อคส.รุกใต้ ขยายธุรกิจ ตั้งคลังสินค้าท้องถิ่น แก้ผลผลิตล้นราคาตกต่ำ

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อคส. ได้มีการเจรจาเพื่อการขยายการทำธุรกิจในรูปแบบต่างๆ โดยล่าสุด อคส.พบเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้ง เพื่อร่วมลดปัญหาปริมาณผลิตกุ้งจะออกสู่ตลาดจำนวนมากในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เบื้องต้นเตรียมเม็ดเงินเสริมสภาพคล่อง วงเงินดอกเบี้ยต่ำ แก่แพปลาและห้องเย็น เพื่อพยุงราคานอกจากนี้พบว่ามีที่ดิน 4 แปลงของธนารักษ์ในการตั้งคลังกุ้ง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ตั้งแต่การรับรองลูกพันธุ์กุ้งจนถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่าและการจัดจำหน่าย ตามยุทธศาสตร์ “แก้มลิง++” โดยตรวจสอบผังเมืองกับทางโยธา และร่วมกับกรมการค้าภายใน เตรียมผลักดัน อาหารสัตว์ธงฟ้า ที่ราคาเป็นธรรมคุณภาพเต็มถุง

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า อคส. ได้หารือ มหาวิทยาลัยทักษิณ และส่วนราชการจังหวัดพัทลุง ในการเพิ่มโอกาสต้นกล้า “กระท่อม” ที่ในพื้นที่ลงปลูกแล้วกว่า 1 ล้านต้นในภาคใต้ตอนล่าง จึงเป็นภาระกิจที่ต้องเร่งสร้างตลาดรองรับผลผลิตส่วนเกินในอนาคต พร้อมผลักดันภาคใต้เป็นเมืองหลวง กระท่อม สร้างรายได้ที่มั่นคงให้พี่น้องเกษตรกร พร้อมสำรวจพื้นที่ตั้งคลังกระท่อม ผลิตกระท่อมผงเพื่อการส่งออกในประเทศสหรัฐและกลุ่มประเทศยุโรปที่อนุญาตนำเข้า

“ ตั้งเป้าผลักดันยอดส่งออก ผงกระท่อม 500 ตันภายในปีนี้ พร้อมประสานกระทรวงพาณิชย์ ประชาสัมพันธ์ กระท่อม ผ่านเครือข่ายฑูตพาณิชย์ ในรูปแบบทั้งออนไลน์และออฟไลน์ “นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ อคส. ร่วมพาณิชย์จังหวัดนราธิวาส พบร้านค้าส่งธงฟ้า สร้างพันธมิตรเครือข่ายช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ อคส พร้อมชี้แจงการปัญหาเครื่อง EDC ขัดข้องและให้กำลังใจรอการใช้ application ทดแทนในอนาคต  ซึ่งในการลงพื้นที่สำรวจการค้าชายแดนบริเวณด่านตากใบ พบการค้าแฝงมูลค่ากว่า 3,000 ล้านต่อปี หากสร้างสะพานไทย-มาเลย์ จะเพิ่มยอดส่งออกและการท่องเที่ยวได้อีกกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อปี

Advertisement

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อคส. เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสและเกษตรจังหวัดนราธิวาส ร่วมรับฟังแนวทางแก้ปัญหาราคามังคุดที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ที่มีราคาตกต่ำซ้ำซากมาตลอด โดยร่วมภาคเอกชน จับมือใช้สามารถสร้างห้องเย็นรองรับมังคุดและผลไม้นราธิวาสเป้าหมาย 500 ตันในระยะเริ่มต้น และสามารถขยายกำลังการเก็บรักษาได้กว่า 3,000 ตันในระยะที่ 2 พร้อมทำโครงการเสนอคณะกรรมการ  อคส.เห็นชอบและเริ่มดำเนินการสร้างให้ทันในเดือนตุลาคม 2565

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า  อีกทั้ง อคส. หารือผู้ประกอบการโรงงานกะทิ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเพิ่งเริ่มดำเนินการพร้อมนโยบายรับซื้อมะพร้าวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในราคาที่สูงกว่าล้งมะพร้าวทั่วไป โดยเบื้องต้น อคส. จะเป็นผู้จัดจำหน่ายผ่านช่องทางร้านค้าส่งธงฟ้าทั่วประเทศและผ่านการประสานทูตพาณิชย์ นอกจากนี้จะร่วมเกษตรจังหวัดเพื่อพัฒนาการปลูกมะพร้าวให้ได้คุณภาพสูง สอดรับนโยบาย เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image