‘บิ๊กโจ๊ก’ จับแก๊งหลอกทำใบตรวจสอบประวัติอาชญากรปลอม

‘บิ๊กโจ๊ก’ จับแก๊งหลอกทำใบตรวจสอบประวัติอาชญากรปลอม-เร่งแก้ ‘ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน’ ตามนโยบาย ผบ.ตร.

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.วีระ จิรวีระ ผบช.สพฐ. และ พล.ต.ต.ฐากูร นิ่มสมบูรณ์ ผบก.ทว. พร้อมชุดปฏิบัติการจับกุมนายวรพล หรือหลุยส์ ทรงสละบุญ อายุ 28 ปี ข้อหา “พยายามฉ้อโกงประชาชน, ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม, นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์” และนายจำลอง ยิ่งตระกูล อายุ 58 ปี ข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ก่อนจับกุม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เล็งเห็นความสำคัญ ต่อการตรวจสอบประวัติของบุคคลมากขึ้น หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีความต้องการบุคคลที่ปราศจากประวัติอาชญากรรมเข้าทำงานในองค์กร/บริษัท จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งประชาชนต้องแสดงผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมประกอบในการสมัครงานด้วย ประชาชนซึ่งเคยมีประวัติถูกฟ้องคดีอาญา แต่ศาลยกฟ้อง จะยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้อาจถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตใหม่เฉกเช่นประชาชนคนอื่น จึงสั่งการให้ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เร่งศึกษาและแก้ไขเรื่องดังกล่าว เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม โดยการคัดแยกหรือเปลี่ยนแปลงรายการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันดำเนินการอย่างเร่งด่วน

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลตามข้อสั่งการ ซึ่งจากข้อมูลสถิติ ณ วันที่ 28 เมษายน 2565 มีจำนวนประวัติที่ยังไม่ได้คัดแยกผลคดีกว่า 12.4 ล้านราย ในจำนวนนี้ พนักงานสอบสวนส่งรายงานผลคดีถึงที่สุดให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบแล้ว จำนวน 7.8 ล้านราย คงเหลือที่พนักงานสอบสวนจะต้องรายงานผลคดีถึงที่สุดเพิ่มเติมอีกจำนวน 4.6 ล้านราย โดยได้มอบหมายให้ทุกสถานีตำรวจเร่งสำรวจข้อมูลคดีอาญาถึงที่สุดในความรับผิดชอบ โดยมุ่งเน้นการคัดแยกประวัติอาชญากรรมที่เข้าเกณฑ์ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) คดีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือสั่งยุติการดำเนินคดีอาญา ตามระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (2) ศาลสั่งยกฟ้อง หรือไม่ประทับรับฟ้อง (3) ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง โดยตามระเบียบการปฏิบัติของตำรวจนั้นได้กำหนดให้นำข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหามาจัดเก็บลงในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ก่อน แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ก็ไม่ได้นำรายชื่อของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรโดยอัตโนมัติ แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อคัดชื่อออกเอง ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน จึงมีการจัดทำโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” ที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์สั่งการไว้ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม โดยการคัดแยกหรือทำลายรายการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติอาชญากรที่เข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้แก่ประชาชน โดยไม่ต้องเดินทางมาร้องขอด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว จะมอบหมายสายตรวจในพื้นที่แจ้งให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประวัติทราบต่อไป

Advertisement

ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวว่า ขณะที่มีการดำเนินการโครงการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบพบว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดีฉวยโอกาสที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องดังกล่าว แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยการหลอกลวงว่าสามารถดำเนินการลบประวัติให้ได้ ในการนี้จึงสั่งการให้ชุดปฏิบัติการเร่งสืบสวนติดตาม จนจับกุมผู้ต้องหา 2 รายดังกล่าว โดยนายวรพล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กลุ่มไรเดอร์ต่างๆ ว่าตรวจสอบและลบข้อมูลประวัติอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง ซึ่งขัดกับหลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสืบสวนพบว่านายวรพลอ้างว่าจัดทำเอกสารตรวจสอบข้อมูลประวัติอาชญากรรม และลบข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรรมของ ตร. โดยคิดค่าบริการรายละ 200-2,000 บาท จากการตรวจสอบพบว่าเอกสารที่นายวรพลจัดทำมานั้นเป็นเอกสารราชการที่ถูกปลอมแปลงขึ้นมาทั้งฉบับ และไม่ได้มีการลบข้อมูลประวัติอาชญากรรมตามที่กล่าวอ้างได้จริง

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวว่า จากการหลอกลวงดังกล่าวมีผู้เสียหายหลงเชื่อและเสียเงินค่าบริการให้กับนายวรพล จำนวนหลายราย ประกอบกับกรณีดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของ ตร. เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ และจับกุมนำส่งพนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ส่วนนายจำลอง มีพลเมืองดีเข้ามาสอบถามทางเพจของกองทะเบียนประวัติอาชญากร พร้อมส่งเอกสารการตรวจสอบประวัติมาให้ดูพบว่าเป็นเอกสารราชการปลอม กองทะเบียนประวัติอาชญากรจึงแจ้งความไว้ที่ สน.ปทุมวัน และจากการสืบสวนทราบว่าผู้ที่ทำเอกสารปลอมขึ้นมานั้นคือนายจำลอง พนักงานชั่วคราวของบริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี โดยนายจำลองรับว่าทราบว่าทางบริษัทจะต้องไปเอาเอกสารการตรวจสอบประวัติพนักงานจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อใช้ในการเบิกเงิน ตนคิดว่าสามารถทำขึ้นมาเองได้ เนื่องจากเจอเอกสารการตรวจสอบประวัติเก่าตั้งแต่ปี 2562 จึงนำข้อความมาตัดแปะ และถ่ายเอกสารหลายครั้งเพื่อปกปิดร่องรอยการปลอมแปลง เมื่อรับทราบว่าทางกองทะเบียนประวัติอาชญากรมีการแจ้งความ จึงเข้ามามอบตัวที่ สน.ปทุมวัน โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่า ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image