ไทยพบพม่า : เส้นทางสู่ความฝันแห่งสหพันธรัฐ (ตอนจบ)

คอลัมน์ไทยพบพม่า : เส้นทางสู่ความฝันแห่งสหพันธรัฐ (ตอนจบ) 

ระบบสหพันธรัฐเป็นระบบการเมืองที่กลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายประชาธิปไตยในพม่าส่วนหนึ่งใฝ่ฝันถึง เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าพม่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายสุดมหัศจรรย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านชาติพันธุ์และศาสนา จนทำให้ปัญหาทางการเมือง ไปจนถึงด้านเศรษฐกิจ และสังคมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ หากดูดีๆ ล้วนมีสาเหตุมาจากความแตกต่างและแตกแยกทางชาติพันธุ์/ศาสนาทั้งสิ้น เมื่ออังกฤษเข้าไปปกครองพม่า หลังสำรวจอยู่พักใหญ่ ผู้ปกครองฝรั่งลงความเห็นว่าพม่ามีขนาดไม่ใหญ่มากก็จริง จำนวนประชากรโดยรวมก็ไม่ได้มากอะไร

เมื่อเทียบกับอาณานิคมอังกฤษอื่นๆ โดยเฉพาะอินเดีย ที่มีประชากรมากที่สุด และมีความหลากหลายมากกว่าใคร นโยบายของอังกฤษจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการอยู่ร่วมกับผู้ปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่ม และผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ก็เติบโตและเรียกว่า “แฮปปี้” ที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษด้วย เพราะเท่ากับพวกเขาได้รับการคุ้มครองจาก “บริติชราช” และไม่ต้องคอยระแวงว่ากองทัพพม่าจะยกทัพขึ้นไปโจมตีเมื่อไหร่

ในอินเดีย เรียกได้ว่าอังกฤษพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครองในแต่ละรัฐอย่างดี หากผู้อ่านได้ดูภาพยนตร์อินเดียที่กำลังฮิตในช่วงนี้อยู่หลายเรื่อง เช่นเรื่อง RRR ซึ่งเนื้อหาเกิดขึ้นในช่วงปลายอาณานิคมพอดิบพอดี ก็จะเห็นว่าข้าหลวงอังกฤษต้องเจรจากับผู้ปกครองพื้นเมือง อย่างมหาราชา (maharaja) นิซาม (nizam) หรือสุลต่าน (sultan) อยู่ตลอด เพื่อป้องกันไม่ให้ราชนิกูลเหล่านี้กระด้างกระเดื่อง เมื่อใดที่ผู้ปกครองท้องถิ่นก่อกบฏ อังกฤษก็จะยกทัพไปปราบอย่างรุนแรงทุกครั้ง เพื่อให้เป็นตัวอย่าง และป้องกันไม่ให้ผู้ปกครองในอินเดียลุกฮือขึ้นต่อต้านอังกฤษอีก เมื่ออินเดียได้รับเอกราชไปแล้ว รัฐบาลอินเดีย ที่เรียกว่าเป็นรัฐบาลของคนฮินดู ที่ใช้ภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษเป็นหลัก ไม่ได้พยายามเข้าไปครอบงำทั้งด้านภาษาและลดทอนวัฒนธรรมของผู้คนที่ไม่ใช่คนที่พูดภาษาฮินดีแต่อย่างใด จนทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และดนตรีในภาษาเตลูกู (Telugu) มาลายาลัม (Malayalam) กุจะราติ (Gujarati) และกันนาดา (Kannada)

ย้อนกลับมาดูที่พม่า แม้พม่าจะเคยเป็นจังหวัดหนึ่งของอินเดียมาก่อน แต่เมื่อพม่าได้เอกราชแล้ว นโยบายของรัฐบาลที่มีผู้นำส่วนใหญ่เป็นคนพม่าที่นับถือศาสนาพุทธ กลับแตกต่างจากนโยบายจากพรรคคองเกรสของอินเดียโดยสิ้นเชิง ยิ่งเมื่อเกิดรัฐประหารที่นำโดยนายพลเน วิน ในปี 1962 ยิ่งเป็นการตอกย้ำบทบาทนำของคนพม่า และกองทัพพม่า ที่มีนโยบายกดขี่กลุ่มชาติพันธุ์ จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล/กองทัพพม่ากับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์แย่ลงตามลำดับ ในทุกพื้นที่ โรงเรียนบังคับสอนภาษาพม่า และกดทับวัฒนธรรมดั้งเดิมด้วยการนำวัฒนธรรมแบบพม่าแท้เข้าไปครอบ

Advertisement

กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มได้รับการปฏิบัติจากรัฐบาลพม่าแตกต่างกัน บางกลุ่มที่เป็นกลุ่มใหญ่หน่อย และมีภาษา วัฒนธรรม และศาสนาที่แตกต่างจากคนพม่าอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะคนกะเหรี่ยงและกะฉิ่น แต่ไม่ใช่ว่าเฉพาะคนที่ไม่ใช่คนพุทธเท่านั้นที่จะต่อต้านรัฐบาล/กองทัพพม่าอย่างรุนแรง เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนพุทธ ไม่ว่าจะเป็นฉาน หรือมอญ ล้วนมีกองกำลังหลายกลุ่มที่ต่อต้านพม่ามายาวนานทั้งสิ้น

ปัญหาของการสร้างสหพันธรัฐของพม่าคือความแตกต่างทางความคิด อุดมการณ์ และผลประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ อุปสรรคที่ทำจะเตะตัดขาไม่ให้สหพันธรัฐเกิดขึ้นในพม่าได้ หรือหากเกิดขึ้นจริงก็อาจไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว ก็เพราะความแตกต่างหลากหลายตรงจุดนี้ บางคนอาจจะพูดว่ากลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าจะมีเอกภาพเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์หลักอย่างในสิงคโปร์ หรือในอินเดียไม่ได้เชียวหรือ ก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้ยาก เมื่อเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นในสิงคโปร์หรืออินเดีย รัฐบาลในยุคหลังเอกราชล้วนมีนโยบายออกไปในแนวประนีประนอม แม้รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่สุดของประเทศ (ชาวจีนในกรณีของสิงคโปร์ และชาวฮินดูในกรณีของอินเดีย) แต่ก็พยายามเข้าหากลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มศาสนาต่างๆ เพราะมองว่าการสร้างรัฐสมัยใหม่ให้เข้มแข็งย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ หากกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศยังทะเลาะกันอยู่ บทเรียนจากการจลาจลทางเชื้อชาติครั้งใหญ่ในสิงคโปร์ในปี 1964 หรือความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม ที่ปะทุจนกลายเป็นการจลาจลที่รัฐคุชราต (Gujarat) ในปี 1969 เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้ผู้นำของทั้งสองประเทศ

แต่สำหรับพม่า สถานการณ์ไม่ได้เป็นแบบนั้น ความขัดแย้งทางเชื้อชาติมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นในรูปสงครามกลางเมือง มากกว่าการจลาจลทางเชื้อชาติทั่วไป และอีลีทพม่าที่เป็นผู้นำและกองทัพไม่เคยมีนโยบายประนีประนอม เพราะเขาถือว่าพันธกิจหลักของกองทัพคือการยกย่องเชิดชูความยิ่งใหญ่ของคนพม่า กลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ ที่ต้องการแยกตัวออกจากสหภาพพม่าย่อมเป็นศัตรูของกองทัพและคนพม่าด้วย ความคิดในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ไม่ว่าโลกจะหมุนไปในทางใด ก็ไม่มีวันจะเปลี่ยนไป และจะยิ่งเลวร้ายลง เมื่อผู้นำพม่ารู้สึกว่าตัวเองถูกกดดันเพิ่มขึ้น ทั้งจากประชาชนใปประเทศของตนเองและจากประชาคมโลก ยิ่งจะใช้มาตรการปราบปรามประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์แบบลับๆ เพิ่มขึ้น

Advertisement

อีกหนึ่งปัญหาที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในพม่าเล่าให้ฟังหลายครั้งคือการขาดเอกภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งรัฐบาลคู่ขนาน NUG และกองกำลัง PDF กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังแอ๊กทีฟอยู่มีอยู่ร่วม 30 กลุ่ม ต่างฝ่ายต่างมีธงของตนเอง กลุ่มที่มีขนาดใหญ่หน่อยมีธุรกิจเป็นของตนเอง และอาศัยสุญญากาศทางการเมือง และภาวะสงครามกลางเมือง ขยายตลาดมืด หรือธุรกิจสีเทาๆ ตามแนวชายแดนทั้งชายแดนไทยและจีน ดังนั้น การจะให้กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มมานั่งโต๊ะเพื่อเจรจาสันติภาพจึงไม่ใช่เรื่องง่าย คณะทำงานด้านสันติภาพที่เรียกว่า PPST (Peace Process Steering Team) จึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง และหาแนวทางที่กลุ่มชาติพันธุ์จะตกลงร่วมกันได้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ในพม่าคือการพบปะหารือระหว่าง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำคณะรัฐประหาร และสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council หรือ SAC) กับ พล.อ.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉานใต้ (SSA-South) และสภาฟื้นฟูรัฐฉาน (Restoration Council of Shan State หรือ RCSS) ผู้นำคณะรัฐประหารพม่ากล่าวอย่างชัดเจนว่ากองทัพยังต้องการเห็นพม่ากลับไปเป็นประชาธิปไตยแบบหลายพรรค และยังกล่าวแบบให้ความหวังว่าระบบสหพันธรัฐมีทางเกิดขึ้นได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของสหภาพและเป็นประชาธิปไตย หรือถ้าจะแปลเป็นภาษาที่เข้าใจได้ (ตามความคิดของผู้เขียน) ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มจะยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพพม่าต่อไป เจ้ายอดศึกเป็นผู้นำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ชุดแรกๆ ที่เข้าหารือกับผู้นำฝั่งพม่า ยังมีกองกำลังอีกอย่างน้อย 7 กลุ่มที่แสดงความประสงค์จะเข้าพบ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย เพื่อหารือเรื่องการสร้างสันติภาพ

กองกำลังทั้ง 7 กลุ่ม แม้จะมีกลุ่มที่เป็น “บิ๊กเนม” อยู่ด้วย เช่น RCSS/SSA, UWSA (United Wa State Party) หรือ KNU (Karen National Union) แต่ก็ถือว่าเป็นกองกำลังเพียงหยิบมือเดียว ยังมีกองกำลัง PDF และรัฐบาลคู่ขนาน NUG ที่มีจุดยืนว่าไม่ต้องการเจรจากับรัฐบาลทหาร ตราบใดที่รัฐบาลทหารไม่ยอมคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนและพรรค NUG

ความฝันการสร้างสหพันธรัฐในพม่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ผู้เขียนมองว่า จุดยืนของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเรื่องหนึ่ง แต่จุดที่เราต้องให้ความสนใจกันอย่างมากคือการกดดันกองทัพพม่า ให้คืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนให้เร็วที่สุด และถอนตัวออกจากการเมืองพม่าแบบถาวร แต่นี่ล่ะค่ะที่เป็นเรื่องที่ยากที่สุด และไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ในช่วงชีวิตของเรา…

ลลิตา หาญวงษ์

ย้อนอ่านบทความที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image