‘รบ.’พลิกใช้สูตรหาร 500 สกัดเพื่อไทยแลนด์สไลด์ เปิดช่องพรรคร่วมคัมแบ๊ก

‘รบ.’พลิกใช้สูตรหาร 500 สกัดเพื่อไทยแลนด์สไลด์ เปิดช่องพรรคร่วมคัมแบ๊ก

 

‘รบ.’พลิกใช้สูตรหาร500

สกัดเพื่อไทยแลนด์สไลด์

เปิดช่องพรรคร่วมคัมแบ๊ก

Advertisement

ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …

และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในวาระ 2-3 หลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับ พิจารณาเสร็จแล้ว

ประเด็นที่มีการอภิปรายกันอย่างยาวนานกว่า 5 ชั่วโมง คือ มาตรา 23 ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เกี่ยวกับวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามระบบเลือกตั้ง

Advertisement

ที่มีการแก้ไขมาเป็นบัตร 2 ใบ คือ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ว่าจะใช้สูตรการคำนวณแบบใช้ ส.ส.ทั้ง 500 คนหาร ตามข้อสังเกตของ กมธ.เสียงข้างน้อย

ซึ่ง นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เสนอความเห็นไว้ ขณะที่มติเสียงข้างมากของ กมธ.มีข้อเสนอให้ใช้แบบหารด้วย 100

สุดท้ายที่ประชุมรัฐสภามีมติพลิกกลับจากเคยที่รับหลักการของร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ใช้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 10

มาเป็นสูตรที่ใช้ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 ตามสัญญาณจากวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ส่งมายังที่ประชุมรัฐสภาว่า สนับสนุนสูตรการคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 ด้วยมติเห็นด้วย 354 เสียง ไม่เห็นด้วย 162 เสียง

งดออกเสียง 37 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ที่สนับสนุนให้ใช้สูตรหาร 500 ลงมติกันเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสียงส่วนใหญ่สนับสนุน เช่นเดียวกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ลงมติไปในทิศทางเดียวกัน มีเพียง 7 ส.ว.ที่ลงมติสวนให้ใช้สูตรหาร 100

เหตุที่ผู้กุมอำนาจทั้งจากกลุ่ม 3 ป. และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เปลี่ยนสัญญาณให้กลับมาสนับสนุนสูตรคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 นั้น สืบเนื่องจากก่อนหน้าที่ผู้มีอำนาจภายในพรรค พปชร. ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และให้ใช้สูตรการคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 นั้น มีการประเมินกันว่า พรรค พปชร.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะชนะเลือกตั้งและได้จำนวน ส.ส.มากขึ้น จึงต้องแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับมาใช้บัตร 2 ใบ เพื่อที่พรรค พปชร.จะได้ไม่เจอปัญหาซ้ำรอยกับพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ติดล็อกกับกติกา บัตรเลือกตั้งใบเดียว พร้อมกับสูตรการคิดคำนวณ ผ่านสัดส่วนของ ส.ส.พึงมี ทำให้พรรค พท.ที่มีความเข้มแข็ง ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.มาเกินจำนวน ส.ส.พึงมี จึงทำให้ไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้แต่คนเดียว แกนนำพรรค พปชร.จึงอยากจะแก้ไขระบบเลือกตั้ง เพื่อให้ตัวเองเกิดความได้เปรียบ ไม่ซ้ำรอยพรรค พท. ที่ติดล็อกกับการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว และมี ส.ส.พึงมี มาคิดคำนวณด้วย แต่จากกระแสการเปิดตัว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” เข้ามาเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรค พท. รวมทั้ง นั่งเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อีกหนึ่งเก้าอี้ ในการเดินหน้ากลยุทธ์นำพรรค พท.คว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งหน้า แบบ “แลนด์สไลด์” ให้ได้จำนวน ส.ส.มากกว่า 253 เสียง

เพื่อยึดกุมความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรค พท. ปิดช่องทางไม่ให้ ส.ว. 250 คน มาโหวตสนับสนุนนายกฯแข่งอีกรอบ กอปรกับชัยชนะ ผู้ว่าฯกทม.แบบแลนด์สไลด์ ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่ชาว กทม.พร้อมใจเทคะแนนให้ถึง 1,386,215 คะแนน ชนิดที่พร้อมใจกันเลือกตั้งให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งคว้าชัยชนะแบบขาดลอย อีกทั้งรูปแบบการทำงานของ “ชัชชาติ” ในฐานะผู้ว่าฯกทม. ที่โชว์ภาวะผู้นำที่ดึงความร่วมมือของผู้คนมาร่วมกันทำงาน จนเกิดเป็นความเชื่อมั่นและข้อเปรียบเปรียบ ที่หลายคนอยากได้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ในแบบสไตล์ “ชัชชาติ”

ประกอบกับผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” ครั้งที่ 2/2565 ที่ระบุถึงคะแนนนิยมของพรรค พท. ที่คนยังเลือกมาเป็นอันดับที่หนึ่งถึง 36.36% ขณะที่กระแสความนิยมที่คนจะสนับสนุนให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯ สูงเป็นอันดับหนึ่งที่ 25.28% ทิ้งห่าง พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีคะแนนนิยมเป็นอันดับ 4 อยู่ที่ 11.68% อีกทั้งเมื่อดูกระแสความนิยมในฝั่งของพรรค พท.ที่อาจจะชนะแบบแลนด์สไลด์ได้ตามยุทธศาสตร์การเลือกตั้งครั้งหน้าแล้ว บวกกับกระแสของประชาชนที่อาจจะเบื่อกับการแก้ปัญหาของผู้นำประเทศในชุดปัจจุบัน ที่ยังฟื้นเรตติ้งไม่ขึ้นกับสารพัดปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ข้าวของแพง โดยเฉพาะราคาพลังงานอย่างน้ำมัน ที่ยังรอการตัดสินใจถึงภาวะผู้นำในการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ กลุ่มผู้มีอำนาจจึงส่งสัญญาณให้กลับมาใช้สูตรคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยสูตรหาร 500 ในนัยยะหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งพรรคเล็กได้ประโยชน์จากสูตรคิดหาร 500 ให้ได้มีโอกาส มีส่วนแบ่งในสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
100 ที่นั่งได้บ้าง รวมทั้งจะเป็นการสกัดยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ ไม่ให้มีโอกาสมาจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับขั้วอำนาจชุดปัจจุบัน

หากเป็นไปตามเกมของผู้มีอำนาจฝ่ายรัฐบาล เดินหน้าสูตรหาร 500 สำเร็จจนประกาศใช้ คงต้องมาลุ้นกันในสนามเลือกตั้งเป็นตัวชี้ขาดว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะมีโอกาสคัมแบ๊กกลับมาจับมือจัดตั้งเป็นรัฐบาลร่วมกันอีกสมัยได้หรือไม่ ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่ากติกาที่ออกมาจะเอื้อกับฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งมากขนาดไหน

หากประชาชนเขามีตัวเลือกไว้ในใจเรียบร้อยแล้ว กติกาที่คิดว่าได้เปรียบ อาจจะสกัดปรากฏการณ์ “แลนด์สไลด์” ไม่ได้เหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image