ปลัด สธ.เผยสถานการณ์ท่วมอุบลฯ-ร้อยเอ็ด ยังไม่กระทบบริการสุขภาพ เตรียมแผนฉุกเฉินแล้ว

ปลัด สธ.เผยสถานการณ์ท่วมอุบลฯ-ร้อยเอ็ด ยังไม่กระทบบริการสุขภาพ เตรียมแผนฉุกเฉินแล้ว

วันนี้ (11 ตุลาคม 2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ว่าขณะนี้ยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 25 จังหวัด สถานบริการได้รับผลกระทบสะสม 181 แห่ง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 1 แห่ง โรงพยาบาล (รพ.) 13 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) 8 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 154 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง (ศสม.) 5 แห่ง เปิดให้บริการปกติ 131 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 27 แห่ง ปิด/ย้ายจุดบริการ 23 แห่ง โดยปรับรูปแบบไม่ให้กระทบต่อการบริการ

“และจัดส่งทีมปฏิบัติการเชิงรุกลงไปให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง 482 ทีม ให้บริการเยี่ยมบ้าน ตรวจรักษา แจกยาชุดน้ำท่วม รวม 82,155 ราย และประเมินคัดกรองสุขภาพจิต 23,315 ราย พบ ภาวะเครียด 3,194 ราย ภาวะซึมเศร้า 201 ราย และภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10 ราย ได้ให้การดูแลแล้ว” นพ.โอภาสกล่าว และว่า สถานการณ์ของ จ.อุบลราชธานี ขณะนี้ปริมาณน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สสจ.อุบลราชธานี ได้ส่งทีมแพทย์เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้ง 9 อำเภอแล้ว พร้อมแจกจ่ายยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 20,000 ชุด และยาน้ำกัดเท้า 3,000 หลอด และให้บริการจัดส่งยาสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังถึงบ้าน จำนวน 200 คน เพื่อให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานบริการที่ได้รับผลกระทบทั้ง 8 แห่ง ได้ทำการขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ครุภัณฑ์ ไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว มีสถานบริการ 4 แห่ง ที่ต้องปิดให้บริการ และย้ายไปตั้งจุดให้บริการในหมู่บ้าน, วัด, สนามกีฬา และสถานีบริการน้ำมัน

Advertisement

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนที่มีภาพเจ้าหน้าที่ของ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ช่วยกันขนกระสอบทรายนั้น ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการ รพ.ว่า เป็นการเตรียมการป้องกันถังเก็บน้ำของโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้ได้รับความเสียหายและไม่ให้เกิดผลกระทบกับบริการ ขณะนี้โรงพยาบาลยังสามารถให้บริการได้ตามปกติ เพียงแต่กำหนดจุดทางเข้าออกของโรงพยาบาลใหม่ และได้เตรียมแผนลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศหากเกิดน้ำท่วมในโรงพยาบาล โดยประสานกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 21 อุบลราชธานี ไว้แล้ว และในวันนี้จะมีการแถลงการณ์ระดับจังหวัด ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด

“สำหรับ จ.ร้อยเอ็ด ได้รับรายงานจากผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 7 ว่าสถานการณ์น้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสถานบริการได้รับผลกระทบ 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.บ้านดอนสัมพันธ์ รพ.สต.บ้านเกาะแก้ว และ รพ.สต.ศรีสว่าง แต่ยังสามารถเปิดให้บริการได้บางส่วน สสจ.ร้อยเอ็ด ได้จัดทีมออกให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป เยี่ยมบ้าน จ่ายยา และล้างแผลให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินทางมารับบริการได้ และมอบยาชุดผู้ประสบภัยให้กับ 8 อำเภอ แล้ว จำนวน 500 ชุด” นพ.โอภาสกล่าว และว่า นอกจากนี้ ชมรมเภสัชกร แพทย์แผนไทย และ รพ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ได้ร่วมกันผลิตสมุนไพรรักษาน้ำกัดเท้า แจกจ่ายประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนในเบื้องต้น และยังได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 และศูนย์อนามัยที่ 7 อาทิ รองเท้าบู๊ตแบบสั้นและแบบยาว, สารส้ม, ส้วมเก้าอี้, ยาสามัญประจำบ้าน และยาทากันยุง เป็นต้น

Advertisement

ปลัด สธ.กล่าวว่า ส่วนที่มีข่าวว่าชาวบ้านบ้านดอนโมง ต.ท่าหาดยาว อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด ได้รับผลกระทบน้ำท่วมนานกว่า 3 สัปดาห์ และต้องการยาน้ำกัดเท้าและยาสามัญประจำบ้านนั้น ในวันนี้ (11 ตุลาคม 2565) นพ.พิทักษ์พงศ์ พายุหะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ร้อยเอ็ด พร้อมด้วย นายสมพงษ์ สุดขัน สสอ.โพนทราย และคณะเจ้าหน้าที่ รพ.โพนทราย ได้ลงพื้นที่ออกหน่วยตรวจรักษาโรคและคัดกรองสุขภาพจิต ที่บ้านดอนโมง หมู่ 3 และหมู่ 5 ต.ท่าหาดยาว มีผู้เข้ารับบริการ 50 ราย และได้แจกจ่ายยาสามัญประจำบ้านให้แก่ประชาชน 282 หลังคาเรือน

“ทั้งนี้ ส่วนกลางได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ให้กับพื้นที่ที่ได้รับกระทบ ได้แก่ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ จำนวน 11,900 ชุด ชุดเวชภัณฑ์ป้องกันควบคุมโรคในภาวะฉุกเฉิน 8 รายการ 2,400 ชุด และรองเท้าบู๊ต 2,304 คู่ และยังจัดสรรงบประมาณให้เขตสุขภาพจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแจกจ่ายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างรวดเร็ว” นพ.โอภาสกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image