กทม.-สปสช.ชวนประชากรแฝง 7 แสนคน ลงทะเบียนใช้สิทธิ “บัตรทอง” ในกรุงเทพฯ ไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้าน

กทม.-สปสช.ชวนประชากรแฝง 7 แสนคน ลงทะเบียนใช้สิทธิ “บัตรทอง” ในกรุงเทพฯ ไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้าน ประสาน 17 รพ.เอกชน รับส่งต่อกรณีแอดมิต

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ศาลาว่าการ กทม. กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงเชิญชวนประชากรแฝงกว่า 7 แสนคน ที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนสิทธิบัตรทองเพื่อใช้บริการสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ พร้อมจับมือโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน รับส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เข้าถึงการรักษาสะดวก รวดเร็ว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่มีความสลับซับซ้อน และมีประชากรหนาแน่น รวมถึงประชากรแฝง การจัดระบบดูแลสุขภาพจึงต้องมีความจำเพาะพิเศษ ความร่วมมือระหว่าง กทม. สปสช.และ รพ.เอกชน ในวันนี้ จะช่วยทำให้ประชากรแฝงกว่า 7 แสนคน ที่เข้ามาทำงาน หรือมาเรียน และพักอาศัยในกรุงเทพฯ ได้ลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลใกล้ที่ทำงาน สถานที่เรียน หรือตรงตามที่พักอาศัย เพื่อได้รับการรักษาใกล้บ้านใกล้ใจ

Advertisement

“ขอบคุณ สปสช.ที่ได้จัดเตรียมเครือข่ายหน่วยบริการ และขอบคุณ รพ.เอกชน ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อดูแลประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ในส่วนของ กทม.นั้น ทางสำนักอนามัยได้เตรียมความพร้อมศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ทั้ง 50 เขต ทำหน้าที่เป็น Area Manager ผู้จัดระบบบริการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ” นายชัชชาติ กล่าวและว่า ที่ผ่านมา ภายใต้นโยบายผู้ว่าฯ กทม. ได้จัดทำนโยบายด้านการรักษาพยาบาลไว้ 9 ข้อ เพื่อยกระดับบริการสุขภาพให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง (Home ward), หมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine, Mobile Medical Unit รถตรวจสุขภาพเชิงรุก ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดีผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อด้วยการบูรณาการข้อมูล เป็นต้น ทั้งนี้ ด้วยนโยบายและสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพตามนโยบายให้บรรลุผลสำเร็จได้

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลังจากที่คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร ได้ประชุมร่วมกับ กทม. เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีประเด็นสำคัญคือ การให้ประชากรแฝงประมาณ 7 แสนคน ที่เข้ามาทำงานหรือมาเรียนและอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมา ได้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิบัตรทองในกรุงเทพฯ ซึ่ง สปสช.จะร่วมกับ กทม. ดำเนินการให้ทุกคนได้ลงทะเบียนกับหน่วยบริการประจำใน กรุงเทพฯ ที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน สถานที่เรียน หรือที่พักอาศัย โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้าน เมื่อเจ็บป่วยก็เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนเลือกไว้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนกลุ่มนี้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายและสะดวกขึ้น

Advertisement

“โดย สปสช.ได้จัดเตรียมเครือข่ายหน่วยบริการรองรับประชากลุ่มนี้ มีคลินิกชุมชนอบอุ่นเกือบ 300 แห่ง ให้เลือกเป็นหน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลปฐมภูมิ และมีศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 69 แห่ง ทั้ง 50 เขต โดยสำนักอนามัย กทม. เป็นหน่วยบริการประจำ เมื่อเกินศักยภาพจะได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลรับส่งต่อ” นพ.จเด็จ กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สปสช.และ กทม. ยังได้ร่วมมือกับ รพ.เอกชน ที่อยู่นอกระบบมาร่วมเป็นสถานพยาบาลรับส่งต่อ ซึ่งเป็นไปตามตามมาตรา 7 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยที่มีเหตุสมควร เข้ารับบริการที่สถานพยาบาลอื่นได้ โดยบัญชีเครือข่ายหน่วยบริการ จะขึ้นรายชื่อหน่วยบริการรับส่งต่อว่า สายด่วน 1330 ประสานส่งต่อ

“ซึ่งกรณีนี้หมายความว่า เมื่อท่านเจ็บป่วยแล้วไปรักษาที่สถานพยาบาลปฐมภูมิ หรือสถานพยาบาลประจำที่ลงทะเบียนเลือกไว้ กรณีที่จำเป็นต้องส่งต่อไปรักษา หรือ ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน เนื่องจากเกินศักยภาพของสถานพยาบาลปฐมภูมิ หรือสถานพยาบาลประจำ เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลจะโทรไปที่สายด่วน สปสช.1330 เพื่อเป็นผู้ประสานการส่งต่อกับสถานพยาบาลให้ ขณะนี้มี รพ.เอกชน เข้าร่วมแล้ว 17 แห่ง ทำให้ขยายจำนวนเตียงสำรองเพิ่มถึง 572 เตียง” นพ.จเด็จ กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.เชิญประชากรแฝงกว่า 7 แสนคน ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมา สามารถลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลประจำตัวใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน หรือใกล้สถานศึกษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องย้ายทะเบียนบ้านมา เพียงใช้หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ 1.หนังสือรับรองของเจ้าของบ้าน หรือ 2.หนังสือรับรองของผู้นำชุมชน หรือ 3.หนังสือรับรองผู้ว่าจ้างหรือนายจ้าง หรือ 4.เอกสารหรือหลักฐานที่มีชื่อของผู้ประสงค์ลงทะเบียน เช่น ใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าที่พัก สัญญาเช่าที่พัก ฯลฯ หรือ 5.ผู้ที่ต้องการลงทะเบียนทำหนังสือรับรองตนเองได้ โดยลงทะเบียนได้ง่ายๆ ผ่าน 3 ช่องทาง 1.แอพพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการ 2.ไลน์ OA สปสช. (พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso ในช่องเพิ่มเพื่อน) เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง หรือติดต่อด้วยตนเอง ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคารบี) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ในวันเวลาราชการ หากไม่สะดวก สามารถ โทรศัพท์สายด่วน สปสช. 1330 ได้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image