คอลัมน์ไลฟ์@Science : เทคโนโลยีการผลิตต้นแบบ ‘ยางรีดนมโค’ สัญชาติไทย

ต้นแบบยางรีดนมโคและการประกอบยางรีดนมโค เข้ากับอุปกรณ์รีดนม

 ยางรีดนมโคเป็นอุปกรณ์สำคัญในกระบวนการรีดนม อุปกรณ์นี้มีลักษณะคล้ายท่อยางโดยปลายด้านหนึ่งจะใช้สวมเข้ากับหัวนมของแม่โค ขณะใช้งานจะประกอบกับกระบอกโลหะและใช้ระบบสุญญากาศเพื่อทำให้ท่อยางที่อยู่ด้านในกระบอกโลหะบีบและคลายตัวเป็นจังหวะเพื่อรีดน้ำนม การรีดนมแต่ละครั้งต้องใช้ยางรีดนม 4 ชิ้นต่อแม่โค 1 ตัว

เนื่องจากยางรีดนมโคสัมผัสกับทั้งเต้านมและน้ำนมโดยตรง จึงจำเป็นต้องดูแลรักษาความสะอาดและเปลี่ยนชิ้นใหม่อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์แนะนำให้เปลี่ยนยางรีดนมโคชุดใหม่ทุกๆ 6 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงในการสะสมเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งอาจส่งผลให้เต้านมแม่โคอักเสบ

ยางรีดนมโคที่มีจำหน่ายในปัจจุบันล้วนผลิตจากยางสังเคราะห์และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีราคาค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมปศุสัตว์ในปี พ..2565 ระบุว่าไทยนำเข้ายางรีดนมโคเกือบห้าแสนชิ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท 

เพื่อลดการนำเข้า ลดต้นทุนการผลิตน้ำนม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางธรรมชาติ คณะนักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จึงได้พัฒนาต้นแบบยางรีดนมโคที่มียางธรรมชาติเป็นองค์ประกอบ ความท้าทายเชิงเทคนิคคือการพัฒนาสูตรยางคอมพาวนด์ที่มีราคาถูก ทนทาน และปลอดภัยทั้งต่อตัวแม่โคและผู้บริโภคน้ำนม 

Advertisement

ในการพัฒนาสูตรยางนักวิจัยเลือกใช้เฉพาะสารเคมีที่ผ่านตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาและใช้สารเคมีในปริมาณต่ำ ต้นแบบที่ผลิตได้นำไปทดสอบสมบัติเชิงกลและประสิทธิภาพการใช้งานในระดับภาคสนาม ซึ่งในขั้นตอนนี้ได้รับความร่วมมือจาก ผศ.ดร.สโรช แก้วมณี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสัตวแพทย์หญิง มุขสุดา เรืองกรี จากกรมปศุสัตว์ ในการประสานงานกับเกษตรกร ร่วมกำหนดแนวทางการทดสอบและวิเคราะห์ผลการทดสอบ 

ยางรีดนมโคจากงานวิจัยมีความแข็งใกล้เคียงกับยางรีดนมโคเชิงพาณิชย์ แต่ทนต่อแรงดึงได้มากกว่า เมื่อทดสอบการใช้งานจริงพบว่าไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเต้านมแม่โค และน้ำนมโคที่ได้ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานของสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ จึงสร้างความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันมีการจัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ยางรีดนมโค โดยคาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานนี้ในช่วงปลายปี พ..2567 นักวิจัยมั่นใจว่าต้นแบบยางรีดนมโคที่พัฒนาขึ้นจะผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

Advertisement

สนใจติดต่อ: งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (คุณเนตรชนก ปิยฤทธิพงศ์) 

04

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image