สธ.สอบ รพ.ตรวจเอชไอวี ‘นุ๊ก’ เจ้าตัวเผยไม่เรียกร้อง

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน น.ส.สุทธิดา แสงสุมาตร หรือ “นุ๊ก” ผู้เสียหายจากกรณีโรพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตรวจเชื้อเอชไอวีคลาดเคลื่อน เมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา พร้อมด้วยนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ เข้าพบ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ. นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ.และ ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภาณุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือแนวทางเยียวยาหลังได้รับความเสียหายจากการตรวจเลือดและแพทย์ระบุว่าติดเชื้อเอชไอวี จนทำให้ถูกสังคมตีตราและเสียโอกาสต่างๆในช่วง 17 ปี ทั้งนี้ น.ส.สุทธิดา ได้อุ้มลูกสาววัย 2 ขวบ เข้าร่วมรับฟังการหารือครั้งนี้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสขึ้น

นายสงกานต์ กล่าวว่า น.ส.สุทธิดา ได้รับการตรวจยืนยันว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวีแน่นอน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ดังนั้นสิ่งที่ต้องการจะเรียกร้องจาก สธ.คือ 1.ให้มีการตรวจสอบเรื่องราวเมื่อ 17 ปีก่อนว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร 2.ขอให้ สธ.พิจารณาเยียวยาให้แก่ น.ส.สุทธิดา ตามสมควร

“เราไม่ได้เรียกร้องอะไร แล้วแต่จะพิจารณา ที่สำคัญอยากขอให้สังคมรับรู้ว่าเอดส์ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง น่ารังเกียจ ขออย่าตีตราผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ โรงพยาบาลที่เป็นต้นเรื่องควรตั้งโต๊ะแถลงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยว่าเป็นไปได้อย่างไร” นายสงกานต์ กล่าว

ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้ผลตรวจชัดเจนแล้วว่า น.ส.สุทธิดา ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี ก็ต้องขอแสดงความยินดี และขอให้สังคมเอาเป็นตัวอย่างว่าไม่ควรจะตีตรา หรือแสดงความรังเกียจผู้ที่ติดเชื้อ และจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องที่ผ่านมาเมื่อ 17 ปี ว่ามีกระบวนการตรวจเลือดและตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้มาตรฐานเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ และมีการดูแลผู้ป่วยได้มาตรฐานหรือไม่ โดยแต่งตั้งให้ นพ.ประพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมการการตรวจสอบ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน ส่วนในเรื่องของการเยียวยานั้น ได้มอบหมายให้ นพ.โสภณ พิจารณาตามความเหมาะสม แต่ขณะนี้ขอให้สังคมมั่นใจว่าการตรวจเชื้อเอชไอวีมีมาตรฐานแน่นอน

Advertisement

ขณะที่ ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า ต้องย้อนไปตรวจสอบว่าโรงพยาบาลได้มีการตรวจตามมาตรฐาน ณ ขณะนั้นหรือไม่ ซึ่งเมื่อ 17 ปีก่อน หลังจากมีการตรวจ 1 ครั้ง แล้วรู้ว่าอาจจะติดเชื้อ ต้องมีการตรวจซ้ำอีก 1 ครั้ง เพื่อยืนยันด้วย แต่ขณะนี้ข้อมูลที่ส่งมายังไม่พบว่ามีการตรวจซ้ำอีกครั้งหรือไม่ มาตรฐานของเมื่อ 17 ปีก่อน คือ วิธีการตรวจต้องได้ผลที่แม่นยำร้อยละ 98 แปลว่า อาจจะมีร้อยละ 2 ที่ผิดพลาดเป็นเลือดบวกปลอมได้ ส่วนปัจจุบันจะมีการตรวจซ้ำทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อยืนยันว่าติดเชื้อจริงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังอาจจะขอให้ น.ส.สุทธิดาเป็นพรีเซนเตอร์รณรงค์เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วย

น.ส.สุทธิดา กล่าวว่า ดีใจและรู้สึกโล่งใจมาก เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ และยินดีเป็นพรีเซนเตอร์ให้ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ส่วนการเยียวยานั้น ไม่ได้หวังเรียกร้องอะไร แล้วแต่ สธ.จะพิจารณาตามความเหมาะสม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image