สุจิตต์ วงษ์เทศ : สองง่ามสองแง่ในเพลงรุ่นใหม่ ความเป็นไทยในเพศวิถีศึกษาสนุกๆ

ความเป็นไทยในเพศวิถีศึกษาสนุกๆ กับหางเครื่องลูกทุ่งอีสาน (ภาพจาก https://www.youtube.com)

เพลงสองง่ามสองแง่ถูกตำหนิติเตียนเป็นครั้งคราวว่าหยาบคายลามกจกเปรต จากผู้อ้างว่าไม่ต้องการเห็นสิ่งแปดเปื้อนในวัฒนธรรมไทย

สังคมเปลี่ยนไป โลกไม่เหมือนเดิม คำเคยใช้ไม่หยาบ ก็กลายเป็นหยาบ

แต่อย่างไร? ขนาดไหน? เรียกคำหยาบ หรือคำลามกจกเปรต จะกำหนดโดยมาตรฐานของใคร? กลุ่มไหน? เมื่อไร? คงไม่ง่าย

บางทีพากันเรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดการ ซึ่งทำราวกับนักเรียนฟ้องครูผู้เฒ่าให้ดูเด็กน้อยเล่นผัวเล่นเมียเหมือนบทเสภาขุนช้างขุนแผน ซึ่งถือว่าไม่หยาบ

Advertisement

ปกปิดเรื่องเพศ

ผู้พิทักษ์ความเป็นไทย ตำหนิว่าเพลงลามกสัปดนทุกวันนี้ อยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง แต่มีให้ได้ยินได้ฟังและได้เห็นเป็นสาธารณะ เข้าถึงทุกเพศทุกวัยต่างจากสมัยก่อน โดยอ้างว่า

“เพลงชาวบ้าน เช่น ฉ่อย, อีแซว, โคราช, พาดควาย, เทพทอง จนถึงหมอลำกับลำตัด ล้วนสองง่ามสองแง่ เขาเล่นกันตอนดึกเมื่อเด็กๆ หลับกันหมดแล้ว”

Advertisement

ซึ่งเป็นคำอธิบาย ลักษณะปกปิดเรื่องเพศสมัยหลังๆ แต่หลังขนาดไหนไม่ทราบ เพราะผมได้ยินบ่อยๆ ไม่น้อยกว่า 50 ปีมาแล้ว

เพศวิถีศึกษา

แรกๆ ก็เคลิ้มกับคำอธิบายนั้น ครั้นนานไปได้ประสบการณ์ตรงๆ ถึงรู้ว่าเพลงชาวบ้านดั้งเดิมเขาเริ่มเล่นกันหลังกินอาหารค่ำมื้อเย็นในชีวิตประจำวันซึ่งอยู่ราว 2 ทุ่ม

ไม่เกี่ยวกับรอเด็กหลับ เพราะบางงานเจ้าภาพหาไปเล่นกลางวันก็ร้องหยาบๆไม่ยั้งให้เด็กฟังสนุกไป แล้วชอบด้วย เท่ากับเพศวิถีศึกษา

เริ่มเล่นเพลงหลัง 2 ทุ่ม กว่าจะเล่นเข้าที่มีกลอนแดงๆ อร่อยๆ ก็อีกนานมาก อาจถึงค่อนคืนครึ่งคืน เพราะต้องดำเนินตามแบบแผนประเพณีว่าจะต้องเริ่มจากบทไหว้ครู, บทเกริ่น, บทประ (ทักทาย), บทผูกรัก (เกี้ยวพาราสี), บทสู่ขอ-ลักหาพาหนี, บทชิงชู้-ตีหมากผัว แล้วจบลงด้วยบทลาจาก

เมื่อขึ้นบทประ หมายถึงการทักทายปราศรัยของพ่อเพลงแม่เพลง แล้วเริ่มลวดลายใช้คำสองง่ามสองแง่เฉียดกันไปเฉียดกันมา ตอบโต้กัน แต่ฝ่ายพ่อเพลงจะพยายามลากไปในเชิงเกี้ยวพาราสีจนกลายเป็นผูกสมัครรักใคร่

ถึงบทสู่ขอก็คือฝ่ายหญิงตกล่องปล่องชิ้นยอมรับยอมรักแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องให้ผู้หลักผู้ใหญ่ไปทำพิธีสู่ขอตามประเพณี แล้วฝ่ายชายบ่ายเบี่ยงอ้างโน่นนี่นั่น จึงขอให้ฝ่ายหญิงหนีตามไป เรียกลักหาพาหนี

บทชิงชู้เป็นเรื่องของ “หนึ่งหญิงสองชาย” บทตีหมากผัวเป็นเรื่องของ “สองหญิงหนึ่งชาย” หรือ “เมียหลวง-เมียน้อย”

พ่อเพลงแม่เพลงอาจพลิกแพลงเพิ่มเติมบทหรือชุดอื่นๆ ได้อีกตามต้องการ เพื่อให้คนดู “อร่อย” ทั้งคืน ด้วยคำสองง่ามสองแง่ที่คนบางกลุ่มบางชนชั้นเห็นเป็นหยาบคาย แต่ทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดจากพิธีกรรมดำรงเผ่าพันธุ์และเจริญพืชพันธุ์

ผมเคยเขียนเรื่องเพลงชาวบ้านไว้นานแล้ว มีในหนังสือ “เซ็กซ์ดึกดำบรรพ์ ของบรรพชนไทย” ว่าศาสนาผี ไม่รังเกียจเซ็กซ์ จะยกมาบางตอนให้อ่าน ดังนี้

ครกกับสาก สัญลักษณ์ทางเพศ

๏ เดือนห้า                     ต่อเดือนหก

ให้น้องเตรียมครก          พี่จะยกสากมา

หนุ่มร้องเกี้ยวสาว ในพิธีขอฝนหน้าแล้ง แปลความได้ว่าหน้าแล้งช่วงเดือนห้าต่อเดือนหก น้องหญิงเตรียมครกไว้ พี่ชายจะยกสากไปตำใส่ครกของน้องหญิง หมายความว่าฝ่ายชายจะไปแต่งงานกับฝ่ายหญิง หรือมีนัยยะว่าฝ่ายชายจะไปมีเซ็กซ์กับฝ่ายหญิง

กิริยาสากในครกยกขึ้นยกลง ทิ่มๆ ตำๆ กระแทกกระทั้น เสมือนอาการของอวัยวะเพศชายสอดใส่อวัยวะเพศหญิง แล้วชักเข้าชักออก (ครก หมายถึงอวัยวะเพศหญิง, สาก คือ สากตำข้าวหรือสากกะเบือ หมายถึงอวัยวะเพศชาย)

เพลงชาวบ้าน เป็นพิธีกรรมสมสู่

เพลงโต้ตอบของชาวบ้าน มาจากพิธีกรรมสมสู่เสพสังวาสจริงๆ เมื่อหลายพันปีมาแล้วเพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงของชุมชนดั้งเดิม (ไม่ส่วนตัว)

เป็นสัญลักษณ์ของพิธีกรรมดำรงเผ่าพันธุ์และเจริญพืชพันธุ์โดยการเสพสมัครสังวาส เพื่อขอความมั่งคั่งและมั่นคงของชุมชนเป็นส่วนรวม (ไม่ใช่เพื่อความหฤหรรษ์ส่วนตัวของคู่หญิงชายนั้น)

ยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว พิธีกรรมสมสู่สังวาสของหญิงชายมีหลักฐานอยู่บนภาพเขียนสี (พบทั่วไปทั้งในไทยและที่อื่นๆ) กับประติมากรรมสำริด (พบที่เวียดนาม) ตุ๊กตาขนาดเล็กรูปหญิงชายทำท่าสมสู่ โดยนอนเหยียดยาวประกบกันบนล่าง ประดับบนฝาภาชนะใส่ศพหรือบรรจุกระดูกคนตาย

การสมสู่ร่วมเพศทำให้มีน้ำอสุจิหลั่งออกมาจากอวัยวะเพศชาย ซึ่งคนแต่ก่อนเชื่อว่าจะบันดาลให้ฝนตกในไม่ช้า เรียกกันสืบมาว่า “เทลงมา เทลงมา” ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เลี้ยงชีวิตคนในชุมชนได้ตลอดปี

พิธีกรรมอย่างนี้ยังมีสืบเนื่องจนปัจจุบัน เรียกพิธีปั้นเมฆขอฝน โดยปั้นดินเหนียวเป็นรูปคน 2 คน สมมุติว่าหญิงชายทำท่าสมสู่กันกลางที่โล่งแจ้ง ให้คนทั้งชุมชนรู้เห็นพร้อมกันทั่วไป

แล้วร่วมกันร้องรำทำเพลงขอฝนด้วยถ้อยคำหยาบๆ เรียกกันว่ากลอนแดง หมายถึงคำคล้องจองโจ๋งครึ่มที่พาดพิงเรื่องเพศและการร่วมเพศ

หญิงมักว่าเพลงชนะชาย ในกลอนเพลงโต้ตอบ เพราะแม่เพลงจะต่อว่าด่าทอจนพ่อเพลงยอมจำนนแล้วหาทางเลี่ยงไป แสดงอำนาจของหญิงที่มีเหนือชาย

เพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชายชาวบ้านด้วยถ้อยคำโลดโผนสองง่ามสองแง่ แหย่ไปทางเรื่องสมสู่หยาบๆ อย่างยิ่งยวด ก็เป็นอีกแนวหนึ่งของพิธีกรรมขอความมั่งคั่งและมั่นคงให้ชุมชน

[จากหนังสือ เซ็กซ์ดึกดำบรรพ์ ของบรรพชนไทย ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2560]

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image