เภสัชฯเล็งขอบรรจุอัตรากำลังยันจำเป็นเท่าหมอ-พยาบาล

ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวถึงบทบาทของเภสัชกรว่า ในการใช้ยาไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร เภสัชกรมีส่วนสำคัญมาก ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สังคมส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเภสัชกรจะต้องอยู่แต่ในร้านขายยา แต่ความจริงในสิ่งที่คนทั่วไปไม่รับรู้คือ เป็นวิชาชีพที่ทำงานในโรงพยาบาลควบคู่กับแพทย์ พยาบาล ในการทำหน้าที่ให้ยาตามอาการและให้ความรู้เกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาแก่ผู้ป่วยมาโดยตลอด

ภก.กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วประเทศสามารถผลิตเภสัชกรปีละ 1,900 คน ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐมีความต้องการให้เข้าสู่ระบบปีละ 1,600 คน หรือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ซึ่งที่ผ่านมา สธ.สามารถบรรจุข้าราชการให้ได้ประมาณ 380 คน แต่ปีนี้กลับไม่มีตำแหน่งให้ ทำให้เภสัชกรที่ผลิตได้ในแต่ละปีเข้าสู่การทำงานในระบบเอกชน หรือไปทำงานอื่น เพราะขาดแรงจูงใจ ซึ่งทำให้ทุนที่รัฐส่งเสริมในการเรียนนั้นสูญเปล่า

“อย่างที่ทราบกันว่า การบรรจุข้าราชการนั้น เงินเดือนไม่สูงมากนัก แต่ที่น้องๆ จบใหม่ต้องการคือ สวัสดิการต่างๆ ซึ่งปีนี้ไม่มีตำแหน่งของเภสัชกรเลย สธ.ได้ให้ทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอไปยังผู้บริหาร และมีเครือข่ายอยากเรียกร้องเหมือนวิชาชีพอื่นๆ เช่นกัน แต่ก็ได้บอกว่าให้รอฟังเหตุผลจากผู้บริหาร สธ.ก่อน เพราะไม่อยากกดดันการทำงาน ซึ่งขณะนี้กำลังทำเรื่องขอเข้าชี้แจงกับรัฐมนตรีว่าการ สธ.และปลัด สธ. ถึงความจำเป็นและภาระงานต่างๆ ที่ต้องการจะได้รับการบรรจุ ซึ่งต้องฟังเหตุผลก่อนจึงจะสามารถตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว

นอกจากนี้ ภก.นิลสุวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาล และ สธ.มีนโยบายส่งเสริมให้สถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศใช้ยาสมุนไพรบำบัดรักษาโรคควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน เพราะยาบางอย่างสามารถใช้รักษาโรคร่วมกันได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มักใช้ยารักษาโรคเรื้อรังมากกว่า 1 ชนิด และต่อเนื่อง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต หลอดเลือดหัวใจตีบ ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น ทั้งนี้ยาสมุนไพรสามารถผลิตได้จากในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้และยังมีความเชื่อว่าสมุนไพรมาจากธรรมชาติต่อร่างกายและไม่ตกค้าง และไม่ก่อให้เกิดพิษ แต่ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาสมุนไพรก็ให้โทษได้ หากใช้ไม่ถูกวิธี ไม่ถูกโรค หรือใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม เพราะยาบางอย่างจะไปขัดฤทธิ์กันหรือเสริมฤทธิ์ให้ยาแรงขึ้น ดังนั้นต้องมีความพอดี มีปริมาณสอดคล้องกัน

Advertisement

ภก.นิลสุวรรณ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้รับรองและบรรจุยาสมุนไพรไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ 24 รายการ อาทิ ยารักษาทางเดินหายใจ เช่น ยาขมิ้นชัน ยาขิง ยาฟ้าทลายโจร, ยารักษาทางเดินหายใจ ได้แก่ ยาฟ้าทลายโจร, ยารักษาโรคผิวหนัง เช่น ยาบัวบกครีม ยาเปลือกมังคุด ยาบัวบกครีม เป็นต้น แต่เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษา ผู้ใช้ต้องยึดหลัก 5 ถูก คือ 1.ถูกคน 2.ถูกโรค 3.ถูกขนาด 4.ถูกวิธี และ 5.ถูกเวลา และในการใช้ควบคู่กันก็ต้องมีการปรึกษาเภสัชกรด้วยทุกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image