ข้อคิด “มือกฎหมายรุ่นใหม่” ปฏิรูปตำรวจ กับ อำนาจสอบสวน แยกจากตำรวจ ได้ประโยชน์จริงหรือ!

ห้วงนี้ช่วงเวลาสำคัญของการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อปฏิรูปองค์กรตำรวจ 

นอกจากโครงสร้างองค์กร ที่กำลังทบทวนว่าจะสังกัดหรือไม่สังกัดกับหน่วยงานใดแล้ว ยังมีประเด็นที่เหล่านักวิชาการ  ชี้เป้าว่าตำรวจจะต้องถูกปฏิรูป “งานสอบสวน” เนื่องจากมองว่า นี่คือปัญหา

หลากทรรศนะข้อเสoอ สับ ปรับ “งานสอบสวน” บ้างให้แยกอำนาจสอบสวนไปจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติบ้าง หรือให้พนักงานอัยการเข้ามาควบคุมอำนาจสอบสวนของตำรวจ บ้างยกโมเดลในนานาประเทศมาเทียบเคียง

“นักกฎหมายสีกากี” รุ่นใหม่ แสดงความคิดเห็นต่อกรณี ปฏิรูปงานสอบสวน เป้าประสงค์อยากให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทว่ายุคที่ในรั้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งห้าม ปิดกั้นการแสดงทรรศนะ ให้ข้อมูลของชาวสีกากีต่อสาธารณะ “วินัย” ทำให้ตำรวจในราชการ ระมัดระวังการแสดงความเห็นต่าง?

Advertisement

มือกฎหมายตำรวจ ระบุว่า ที่ว่านานาอารยะประเทศ มักจะให้อัยการเข้ามาควบคุมอำนาจสอบสวน โดยอ้างคำแนะนำองค์การสหประชาชาติบ้าง อ้างอำนาจอัยการในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส หรือในประเทศอื่น ๆ บ้าง  โดยแจ้งว่า  อัยการมีอำนาจควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งในทางข้อเท็จจริงนั้น หลายประเทศที่อ้างมานั้น ในทางข้อเท็จจริง พนักงานอัยการไม่เคยเข้าไปกำกับดูแลหรือควบคุม หรือสั่งการสอบสวนเลย ยกเว้นคดีบางประเภท ที่มีลักษณะร้ายแรง เป็นองค์กรอาชญากรรม ที่มีการสมคบกันกระทำผิดเท่านั้น  ซึ่งประเทศไทย ก็ให้อำนาจองค์กรอัยการในการสอบสวนคดีต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติอยู่แล้ว  และนับแต่มีกฎหมายพิเศษมาเป็นระยะเวลาพอสมควร และองค์กรอัยการก็ตั้งสำนักสอบสวนคดีประเภทนี้ขึ้นเป็นการเฉพาะ แต่ยังไม่อาจเห็นผลประจักษ์ว่าจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น

“การแยกอำนาจสอบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยยกเรื่อง สวัสดิการ ความเจริญก้าวหน้า และค่าตอบแทนต่ำ หรืองบประมาณไม่เพียงพอ จึงต้องแยกอำนาจสอบสวน หรือ ให้อัยการเข้ามาควบคุมการสอบสวน ลำพังเหตุผลที่สนับสนุนแค่นี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกัน เพราะต้นทาง กับปลายทางที่เสนอ ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย  งบประมาณไม่พอ จึงให้อัยการเข้ามาควบคุมตรวจสอบเช่นนั้นหรือเห็นได้ชัดเจนว่า ต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการอื่น ๆ ไม่ใช่แยกงานสอบสวน หรือให้อัยการมาคุมงานสอบสวน”
“ถามว่าการแยกอำนาจสอบสวนจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติประชาชน ได้ประโยชน์จริงหรือ  ทุกวันนี้ ตำรวจที่ทำหน้าที่สอบสวนคดีอาญา มีจำนวนกว่า 10,000 คน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ แต่ตำรวจได้บูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสายอื่น ๆ ไปช่วยงานในหน้าที่สอบสวนได้ และระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสายสืบสวน และสายป้องกันปราบปราม ไปช่วยสืบสวนจับกุมผู้ร้ายให้พนักงานสอบสวนได้ เพราะลำพังพนักงานสอบสวน ที่มีหน้าที่ทางธุรการทางคดี การผัดฟ้อง ฝากขัง หรือการขออนุมัติออกหมายจับต่อศาล ก็แทบจะไม่ได้พักผ่อนแล้ว ถ้าแยกงานสอบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องสร้างองค์กรขึ้นใหม่ และอาจจะต้องมีกำลังพลหลายหมื่นนายเพื่อรองรับหน้าที่สอบสวน ที่ปัจจุบัน ตร. บูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภายใน ตร. เอง ซึ่งสามารถประหยัดทรัพยากรของชาติและภาษีประชาชนได้มหาศาล” นักกฎหมาย ตร.แจกแจง

กับประเด็นที่ว่า การแยกงานสอบสวนจาก ตร.มีประสิทธิภาพจริงหรือ “มือกฎหมายสีกากี” อธิบายว่า ให้ลองสังเกตุ หน่วยงานที่แยกอำนาจสอบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไป เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ  ปปท. ปปช. หรือแม้กระทั่ง สำนักงานสอบสวนขององค์กรอัยการ ลองยกตัวอย่างคดีมาเถิดว่า หน่วยงานดังกล่าวได้รับงบประมาณเท่าใด ทำสำเร็จได้กี่คดี เฉลี่ยแล้ว คดีจะกี่สิบกี่ร้อยล้าน ในขณะที่องค์กรตำรวจ มีคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบปีละกว่า 600,000 คดี ต่อกำลังพลพนักงานสอบสวน 10,000 นาย ใครทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่ากั

“หน่วยงานอื่น ๆ ที่มีคดีค้างเกือบสิบปี ในขณะรับสำนวนน้อยมาก หรือ บางหน่วยงาน มีคดีค้างนับพันนับหมื่นคดี และมีคดีที่ขาดอายุความหรือใกล้จะขาดอายุความ โดยไม่ต้องรับผิดทางอาญานั้น กรณีเช่นนี้หรือ ที่เรียกว่า มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า ประชาชนได้รับประโยชน์จริงหรือ” มือกฎหมายสีกากี ตั้งข้อสังเกตุ

Advertisement

พร้อมชี้ว่า ข้อเสนอที่ให้อัยการเข้าควบคุมการสอบสวน นั้น ปัจจุบันกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้องค์กรตำรวจ ที่ทำหน้าที่สอบสวนคดีอาญา รับผิดชอบ พิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 145 สำหรับในกรุงเทพฯ มีจำนวนกว่า 3,000 คดี ในภูมิภาคอื่น ก็มีจำนวนมากมายมหาศาลเช่นกัน และองค์กรตำรวจยังมีหน้าที่พิจารณาคำสั่งไม่อุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาที่สั่งโดยพนักงานอัยการด้วย

“ในอดีตนั้น ในภูมิภาค หรือ จังหวัดอื่น ๆ เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง  ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่พิจารณาคำสั่งดังกล่าว และมีความเห็นแย้งเสนอต่อ อัยการสูงสุด พิจารณาชี้ขาดคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ซึ่งมีอัตราความเห็นแย้งเพียง ร้อยละ 0.05 หรือ ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ คสช. จะต้องออกคำสั่งให้ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคต่าง ๆ พิจารณาแทนผู้ว่าฯ  เพราะความยุติธรรมที่ไร้การตรวจสอบเลย จะเป็นความยุติธรรมไม่ได้  ดังนั้น ข้อเสนอที่ให้พนักงานอัยการเข้ามาควบคุมการสอบสวน จึงมีวาระซ่อนเร้น ที่ไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการนั่นเอง  ประชาชนก็จะมีแต่เสียกับเสียเท่านั้น ไม่ได้อะไรเลย”
“หากอัยการเข้ามาควบคุมการสอบสวน คือ การขยายหลุมดำของกระบวนการยุติธรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบัน ป.วิ.อาญา ก็แทบจะไม่ได้ควบคุมดูแลอัยการเลย ไม่มีเวลาสั่งคดี การใช้ดุลพินิจใด ๆ ก็ไม่มีบทบทบัญญัติให้ต้องคำนึงความเห็นหรือเสียงของเหยื่ออาชญากรรมที่ได้รับความเสียหาย บางคดีจึงมีการสั่งคดีล่าช้าหลายปี ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าล่าช้าอย่างนั้น”

“การปฏิรูปองค์กรตำรวจที่แท้จริง  จึงไม่ใช่ให้อัยการมาคุมตำรวจ แต่ต้องมีหลักประกันอิสระให้ตำรวจในการสั่งคดี และได้รับหลักประกันในการดำรงตำแหน่งมิให้มีความรู้สึกหวาดกลัวว่าจะถูกแทรกแซงหรือถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อไหร่ก็ได้  ต้องให้ตำรวจได้รับหลักประกันความเป็นอิสระ และสถานะทางสังคม ตลอดจนค่าตอบแทนแบบองค์กรตุลาการสิครับถ้าอยากได้งานสอบสวนไป ก็เอาไปทั้งแท่ง ทั้งงานเถอะครับ ผมเชื่อว่า ถ้าท่านขอไปทั้งงาน ตำรวจจะไม่ขัดข้องเลย” นักกฎหมายสีกากี ทิ้งท้ายฝากถึงคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image