“กสทช.”ไฟเขียวให้ไฮสปีดเทรนใช้คลื่นย่าน 800/900 MHz และ 400

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 920-925 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับเทคโนโลยี Internet of Things (ไอโอที) และเห็นชอบให้นำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่ 920-925 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 920-925 เมกะเฮิรตซ์ 2. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมประเภท Radio Frequency Identification: RFID และ 3. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมที่ไม่ใช่ประเภท Radio Frequency Identification: RFID ซึ่งใช้คลื่นความถี่ย่าน 920-925 เมกะเฮิรตซ์ และแนวทางการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อรองรับการใช้งานในลักษณะ Internet of Things (IoT) ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้ใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 800/900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ และ 400 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยมีเงื่อนไขจะต้องมีการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวภายในไม่เกินปี พ.ศ. 2563 ซึ่งหากไม่มีการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว เงื่อนไขการอนุญาตก็ให้สิ้นผลไป โดยคลื่นความถี่ 800/900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงในวันที่ 15 กันยายน 2561 ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 400 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่ที่ปัจจุบันใช้งานทางด้านวิทยุสื่อสาร

“มตินี้เป็นไปตามการร้องขอของกระทรวงคมนาคมที่ขอใช้คลื่นความถี่ทั้ง 2 ย่านดังกล่าว โดย คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ จะนำไปใช้ในระบบคมนาคมขนส่งทางรางที่เป็นเทคโนโลยีของประเทศจีน และคลื่น 400 เมกะเฮิรตซ์ เป็นการใช้ระบบคมนาคมขนส่งทางรางเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ทำเรื่องขอใช้คลื่นดังกล่าวมาตั้งแต่เมษายน 2560 ซึ่งสำนักงาน กสทช.ได้จ้างที่ปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาการใช้คลื่นดังกล่าวว่ามีผลกระทบในการใช้คลื่นความถี่รบกวนกันหรือไม่ ทั้งในแง่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ และรบขนส่งทางรางรบกวนกันหรือไม่ ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวพบว่าไม่มีผลกระทบทางด้านเทคนิคแต่อย่างไร”นายฐากรกล่าวและว่าเราให้กระทรวงคมนาคมใช้คลื่น 850 และ 400 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นการใช้งานโดยไม่คิดมูลค่าคลื่นใดๆ เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐขอใช้คลื่น และเป็นนโยบายเร่งด่วนเข้ามา ซึ่งหากสำนักงาน กสทช. มาคิดมูลค่าคลื่นความถี่ดังกล่าว ก็จะทำไม่ให้เกิดรถไฟความเร็วสูง และหากนำคลื่นดังกล่าวมาประมูลจากที่ผ่านมา 10 เมกะเฮิรตซ์ ก็จะได้มูลค่าคลื่นสูงถึงราว 70,000 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image