“กสทช.”อัดงบช่วยเหลือทีวีดิจิทัลเพิ่มเกือบเท่าตัวให้กลุ่มเอชดี10ช่องเปลี่ยนระบบการออกอากาศ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ได้มีมติอนุมัติวงเงินในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจากเดิม 366,912,000 บาท ต่อปี เป็น 616,464,000 บาท ต่อปี โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งยังอยู่ภายใต้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 76/2559 โดยการอนุมัติครั้งนี้เป็นการอนุมัติเพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ประเภทความคมชัดสูง (เอชดี) จำนวนทั้งสิ้น 10 ช่อง ได้แก่ ช่อง 5, ช่อง เอ็นบีที, ช่อง ไทยพีบีเอส, ช่อง 9 , ช่อง ONE HD, ช่องไทยรัฐทีวี, ช่อง 3HD, ช่องอมรินทร์ ทีวี, ช่อง 7HD และช่อง พีพีทีวี โดยมีระยะเวลาสนับสนุนทั้งสิ้น 3 ปี

“ที่ผ่านมา กสทช. สนับสนุนค่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมในประเภทความคมชัดปกติเท่านั้น ส่งผลให้การออกอากาศช่องทีวีดิจิทัล ในกลุ่มช่องเอชดีที่ผ่านมา เมื่อมีการออกอากาศรับชมผ่านทีวีดาวเทียมแล้วจะมีความคมชัดในระดับมาตรฐาน(เอสดี) เท่านั้น แต่การอนุมัติเงินสนับสนุนครั้งนี้จะทำให้การออกอากาศช่องกลุ่มเอชดีบนทีวีดาวเทียม เป็นการออกอากาศในรูปแบบเอชดีอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ รวมถึงเป็นการสร้างความเป็นธรรมในแก่ทางผู้ประกอบการ” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้เห็นชอบตามความเห็นที่สำนักงาน กสทช. ได้ชี้แจงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรื่อง โครงการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ชายขอบ หรือ โครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบ โดยไม่มีประเด็นใดเพิ่มเติม เนื่องจากสำนักงาน ได้ชี้แจงครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว ซึ่งมติที่ประชุม กสทช. ในขณะนี้รอเฉพาะความคิดเห็นของ สตง. ที่จะตอบกลับมา เพื่อเป็นความเห็นประกอบการพิจารณาของ กสทช. ในการที่จะพิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการที่จะเดินหน้าโครงการเน็ตประชารัฐ โดยเบื้องต้นทาง กสทช. จะจัดให้มีการประชุมบอร์ด กสทช. วาระพิเศษเพื่ออนุมัติโครงการทันทีเมื่อ สตง. ได้ทำการตอบกลับหนังสือกลับมา แต่หาก สตง. ไม่ตอบกลับหนังสือชี้แจงจาก กสทช. กลับมา ก็มีความเป็นไปได้สูงที่กรอบเวลาดำเนินโครงการจะล่าช้าไปจากเดิมเพื่อรอความชัดเจนจาก สตง. ทั้งนี้หาก สตง. ยังไม่ตอบหนังสือกลับในส่วน กสทช. ก็มีแผนจะรายงานสาเหตุและข้อเท็จจริงที่ทำให้โครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบล่าช้ายังที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ในวันที่ 1 กันยายนนี้

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับกรอบเวลาเดิมของโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบ สำนักงาน กสทช. จะมีการลงนามในสัญญาภายใต้กรอบระยะเวลาในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 โดยจะมีพื้นที่ที่เปิดให้บริการในเดือน ธันวาคม 2560 ไม่น้อยกว่า 15% เดือน มีนาคม 2561 เปิดให้บริการ 60% และเดือน กรกฎาคม 2561 เปิดให้บริการครบทั้ง 100% โดยได้กำหนดอัตราค่าบริการไว้แล้วว่าผู้ให้บริการจะต้องหักต้นทุนในส่วนที่รัฐได้ไปลงทุน และคิดอัตราค่าบริการได้ในส่วนที่ตนเองเป็นผู้ลงทุนเท่านั้น โดยอัตราค่าบริการที่สำนักงาน กสทช. ได้เคยประกาศไว้ สำหรับบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความเร็ว 30/10 เมกะบิต ต่อเดือนต่อครัวเรือน ต้องไม่เกิน 200 บาท นอกจากนั้น ยังมีแพคเกจพิเศษสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีความต้องการความเร็วอินเตอร์เน็ตต่ำกว่าที่กำหนด เช่น แพคเกจความเร็ว 10 เมกะบิต ราคาประมาณ 100 บาท/เดือน แพคเกจความเร็ว 15 เมกะบิต ราคาประมาณ 150 บาท/เดือน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image