“ทรูมูฟฯ”หอบเช็คจ่ายค่าคลื่น1800งวด2แล้ว-กสทช.จ่อนำเรื่องเอไอเอสขอยืดจ่าค่างวด3เข้าอนุกลั่นกรอง21ธ.ค.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.)  เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ ชุดที่ 1 วงเงินประมูล 39,792 ล้านบาท ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 2 จำนวน  10,644.36 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม7%) และหนังสือค้ำประกัน จากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงิน 10,644.36 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มามอบให้แก่สำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของการชำระเงินประมูล โดยกสทช.จะนำเงินดังกล่าวส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ส่วนที่เหลืออีก 25% ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายคืองวดที่ 3 นั้นจะครบกำหนดจ่ายในวันที่ 19 ธันวาคม 2561 วงเงินรวม 10,644.36 ล้านบาท  (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

“ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN  ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ฯ ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ ชุดที่ 2 วงเงินประมูล 40,986 ล้านบาท ก็ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 2 จำนวน 10,963.755 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) มาชำระให้กับสำนักงาน กสทช. แล้ว” นายฐากรกล่าวและว่า ภายในสัปดาห์หน้าหลังจากที่ได้ขึ้นเงินเรียบร้อย ก็จะนำเช็คทั้ง 2 ฉบับ รวมเป็นฉบับเดียววงเงินรวมกว่า 21,000 ล้านบาท ส่งไปที่กระทรวงการคลังต่อไป ในสัปดาห์หน้า

นายฐากรกล่าวว่า ส่วนกรณีที่  AWN ขอขยายระยะเวลาในการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ  เนื่องจากเห็นว่าราคาประมูลสูงเกินไป เนื่องจาก AWN มองว่า การประมูลในครั้งที่แล้ว ผู้ที่ชนะการประมูลในครั้งแรก 2 รายคือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด แต่ทางบริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ได้ทิ้งการประมูลไป ซึ่งทำให้หลายคนเข้าใจว่า ราคาดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากราคาเริ่มต้นการประมูลประมาณเกือบ 5 เท่าซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไป ทำให้การจ่ายค่างวดๆสุดท้ายต้องใช้เงินจำนวนมาก และเกรงว่าอาขจะประสบปัญหาการเข้าประมูลรอบอื่นๆได้ จึงขอเลื่อนการชำระค่าประมูลออกไป ซึ่ง กสทช.มองว่า หากเลื่อนการชำระเงินค่าประมูลออกไปก็จะทำให้รัฐเสียหาย  ดังนั้นหากจะเลื่อนก็ต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคล้ายกับทีวีดิจิทัลคือบริษัทจะต้องรับภาระดอกเบี้ย ทั้งนี้หากใครประสงค์ที่จะชำระแบบเดิมก็ยังสามารถทำได้ และการจะเลื่อนการชำระออกไปเป็น 7 งวดตามที่ขอมา ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับทางรัฐบาลด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทาง กสทช. จะนำเสนอต่อที่ประชุมอนุกรรมการกลั่นกรองในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ และจะนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช.ในวันที่ 27 ธันวาคม จากนั้นจะนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image