ประชาธิปไตยไทยนิยมกับพยาธิวิทยาของการโฆษณาชวนเชื่อของเผด็จการ

“พยาธิวิทยา” (pathology) หมายถึง วิชาว่าด้วยเชื้อโรค ความเจ็บไข้ไม่สบาย สาเหตุของการเกิดโรค การเปลี่ยนแปลงของร่างกายอันเกิดจากเชื้อโรค เป็นต้น
(Google Translation)

เรื่องประชาธิปไตยแบบไทยนิยม กลายเป็นเรื่องที่พูดกันอย่างติดปากในช่วงสองสามสัปดาห์นี้ และสอดคล้องอย่างน่าสนใจกับการแสดงความเห็นของนายกรัฐมนตรี (ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารในเวลาเดียวกัน) ใน “วันเด็ก” และ “วันครู” ที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องกัน อีกทั้งยังมีความพยายามต่อมาในการ “ขยายความ” และ “ขยายผล” ของความคิดในเรื่องของประชาธิปไตยไทยนิยม ให้มีลักษณะที่เป็นขั้นตอนและระบบระเบียบมากขึ้น ผ่านกลไกของรัฐที่จะลงไปในพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจกับประชาชนในลำดับต่อๆ ไป

มีสองส่วนของคำแถลงของนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันครูระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันครูแห่งชาติ ครั้งที่ 62/2561 เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ว่าคนไทยติดนิสัยชอบอะไรก็จะชอบอยู่อย่างนั้น ค่อนข้างมีความรู้สึกเป็นอารมณ์ศิลปิน รักแรงเกลียดแรงชอบแรง สิ่งเหล่านี้ผมเรียกว่าไทยนิยม เข้าใจไหม ไม่ใช่เรื่องการเมืองเรื่องประชาธิปไตยอย่างเดียว เราต้องเข้าใจความเป็นไทยของเรา นี่เป็นสิ่งที่ผมต้องฝากครู คนไทยจะมีส่วนร่วมพัฒนาชาติได้อย่างไร คนไทยจะเข้าใจประชาธิปไตยได้ลึกซึ้งเพียงใด วันนี้เราอย่าไปเดินตามสิ่งที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยอาจไม่ใช่อย่างนั้น แต่ด้วยหลักการพื้นฐานเราต้องเป็นไปตามกติกาโลก ประชาธิปไตยอะไรก็แล้วแต่ ต้องไม่ลืมพื้นฐานประชาธิปไตย (https://www.thairath.co.th/content/1178607)

นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า “ประชาธิปไตยไทยนิยมในแบบของผม คือทำอย่างไรคนไทยจะเข้าใจประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ทำอย่างไรคนไทยจะทำในสิ่งที่ดีงาม ถ้าทุกคนมุ่งไปสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว นั่นแหละคือไทยนิยม คนไทยชอบทำ เราต้องทำสิ่งดีๆ จะเกิดผลดีต่อบ้านเมือง อันนี้ขอโอกาสชี้แจงเพราะพาดหัวมาหลายวันแล้ว ประชาธิปไตยไทยนิยมของผม คนไทยชอบอะไรก็ชอบ รักอะไรก็รัก เกลียดอะไรก็เกลียด บางคนก็รักๆ เกลียดๆ เกลียดข้างนี้บ้างเกลียดข้างโน้นบ้าง ผมไม่เคยเกลียดใคร เพราะทุกคนคือคนไทยทั้งสิ้น เว้นแต่หลายคนเขาเกลียดผม แต่ในห้องนี้ผมว่าไม่น่ามี” (https://www.thairath.co.th/content/1178607)

Advertisement

นักวิเคราะห์จำนวนมากมักจะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่คณะรัฐประหารและรัฐบาลพยายามนำเสนอว่านี่คือความพยายามรอบใหม่ของการนำเสนอ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยถูกนำเสนอมาครั้งหนึ่งแล้วในช่วงสมัยของ “เผด็จการรุ่นพี่” อย่างยุคจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ทั้งในแง่ของการเกิดก่อน และทั้งในแง่ของความยาวนานอันดับหนึ่ง ซึ่งตอนนี้การปกครองในรอบนี้ก็ล้ำหน้าระบอบเผด็จการในยุคก่อนหน้านี้ทั้งหมด มีแต่ระบอบสฤษดิ์ ถนอม ประภาส เท่านั้นที่ยาวนานกว่า คือ 2500-2516 เป็นเวลา 16 ปี

ขณะที่ปัจจุบันนั้นเราก้าวเข้าปีที่ 4 เข้าไปแล้ว

ประเด็นที่มีการพิจารณากันก็คือ ตกลงเรื่องนี้เป็นเรื่องของ “ประชาธิปไตย” หรือเป็นเรื่องของ “ความเป็นไทย” ในฐานะแกนสำคัญของ “ชาตินิยม” ในสังคมไทยกันแน่ ยิ่งพูดเรื่องประชาธิปไตยไทยนิยม ก็จะยิ่งเป็นเรื่องของชาตินิยมแบบไทย ซึ่งจากการศึกษาของนักวิชาการท่านหนึ่งก็พบว่า รูปแบบสำคัญของชาตินิยมแบบไทยก็คือ ชาตินิยมแบบ “รัฐเป็นผู้กำหนด” (Official Nationalism) มากกว่าชาตินิยมในแบบที่ประชาชนเป็นผู้กำหนดร่วมกัน (Anderson, 1991)

Advertisement

ยิ่งทำความเข้าใจเรื่องของชาตินิยมแบบไทยๆ ที่รัฐเป็นผู้กำหนดและเดินเรื่องมาจากอดีตนั้น จะยิ่งพบว่าแกนสำคัญของชาตินิยมแบบไทยก็คือเรื่องของ “ความภักดีต่อระบบ หรือเชื่อฟังต่อระบบ” และ “ความสามัคคี” แต่ต้องเป็นความสามัคคีในฐานะการเชื่อฟังคำสั่งของรัฐ เพราะรัฐนั้นอยู่เหนือประชาชน

อีกประเด็นที่สำคัญก็คือว่า ในอดีตมาจนถึงปัจจุบันนั้น ชนชั้นนำมีบทบาทสำคัญในการ “เลือกรับและปรับเปลี่ยน” ความเป็นสมัยใหม่ให้เข้ากับสังคมของเรา ในฐานะที่เป็นการครอบงำอย่างหนึ่งในสังคม และเนื้อหาสำคัญที่ชนชั้นนำไทยยึดครองมาตลอดก็คือ “ความเหมาะสม” และ “จังหวะ” ของการก้าวเดิน หรือเปลี่ยนแปลงของสังคม

ชนชั้นนำไทยจากอดีตโดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษนิยม มักจะไม่ปฏิเสธตะวันตก แต่มักจะใช้ท่าทีของการต่อรองเพื่อให้ได้การยอมรับจากตะวันตก โดยการอธิบายถึงความภูมิใจในรากฐานอารยธรรมของประเทศ และพยายามกำหนดจังหวะก้าวเดินที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับตะวันตก และคนใต้ปกครองของตัวเองไปพร้อมๆ กัน

กล่าวคือ ในทางหนึ่งก็ยอมรับความสำคัญของตะวันตก แต่อีกทางหนึ่งก็พยายามบอกว่าเรามีตัวตนของเราผ่านการต่อรองกับตะวันตก โดยชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดการก้าวเดินของตัวเอง เพราะเราไม่เคยเป็นอาณานิคมของตะวันตก

ในแง่นี้การพยายามทำอะไรให้แตกต่างจากตะวันตกจึงเป็นการแสดงอำนาจของตนเองทั้งกับตะวันตก และกับคนใต้ปกครองของตนเองว่า รัฐไทยนั้นสามารถมีที่ยืนในเวทีโลกอย่างสง่าผ่าเผย ได้รับการยอมรับจากตะวันตกและได้รับการยอมรับจากประชาชนของตนเอง ในนามของ “การไม่ตกเป็นเมืองขึ้น” หรือ “เอกราช” ของชาติไทย

นี่คือส่วนหนึ่งของ “หัวใจของความเป็นไทย”

ทีนี้คำถามที่สำคัญต่อมาก็คือ ประชาธิปไตยแบบไทยนิยมนี้มันจะเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐบาลนั้นกำลังประสบความเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง โดยเฉพาะจากความตกต่ำลงของความนิยมจากผลงานการแก้ปัญหา จากความเสื่อมถอยของหนุน และจากความเคลือบแคลงสงสัยในปัญหาคอร์รัปชั่น?

ผมเชื่อว่าคนหลายคนอาจจะรู้สึกว่า แนวคิดประชาธิปไตยไทยนิยมนั้นไม่มีอะไรมาก คงไม่ส่งผลสะเทือนอะไรในสังคมนี้ แต่สำหรับตัวผมเอง อยากจะคิดเช่นนั้นเช่นกัน แต่ก็ยังไม่สามารถจะปักใจเชื่อได้ เพราะผมไม่อยากประเมินผลสะเทือนของสังคมที่มีต่อเรื่องของความเป็นชาตินิยมของคนไทยต่ำจนเกินไป

หมายถึงว่า รากฐานอันยาวนานของชาตินิยมไทย ตั้งแต่การภักดีต่อรัฐ มาจนถึงการเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย และประชาธิปไตยแบบไทย นั้นวางอยู่บนความเชื่อมั่นในความรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ของชาติไทยจากความเข้าใจประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งมีการสอนและนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ทั้งตำราเรียน อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ และละครต่างๆ ทั้งจากรัฐและเอกชนมากมาย แนวคิดที่ต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ส่วนหนึ่งย่อมทำให้คนจำนวนมากนั้น ภูมิใจในความเป็นไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน จนทำให้ความรู้และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในแบบอื่นๆ ที่คัดง้างและตั้งข้อสงสัยกับแกนเรื่องที่ว่าข้างต้นนั้นไม่สามารถมีที่ยืนหรือครองใจผู้คนได้ง่ายๆ

ในแง่นี้ จึงไม่น่าแปลกใจถ้าประชาชนไทยอาจจะมีความเห็นอกเห็นใจผู้มีอำนาจชุดนี้ไม่มากก็น้อย ว่าได้พยายามธำรงความยิ่งใหญ่รุ่งเรืองของชาติโดยการรักษาเอกลักษณ์ของชาติไทยและอัตลักษณ์ของผู้คนในสังคมนี้เอาไว้

อีกทั้งลีลาการออดอ้อนแลดูเหมือนจะไม่ถือสาคนที่คิดร้ายต่อตนของนายกรัฐมนตรีก็น่าจะพอทำให้ความพยายามรอบนี้มีผลสะเทือนในระดับหนึ่งว่า อย่างน้อยรัฐบาลนี้ก็เป็นรัฐบาลที่หวังดีต่อบ้านเมือง พยายามที่จะหาทางออกให้กับประเทศ และไม่หลงไปสู่การเป็นทาสทางความคิดและผลประโยชน์ของพวกตะวันตกได้บ้าง

มีงานวิจัยไม่นานนี้ในประเทศจีนที่สำรวจว่า ในประเทศจีนนั้น คนที่เชื่อมั่นในความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์จีนในอดีตมากเท่าไหร่ ก็จะมีความเป็นชาตินิยมและมีอัตลักษณ์ของความเป็นจีนมากเท่านั้น ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะถูกหรือผิด และยิ่งการพยายามถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นมีมาเป็นเวลานาน เขาก็จะมีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อข้อมูลใหม่ที่จะไปคัดง้างความเชื่อของเขา (แม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องกว่าตามหลักฐานและการตีความใหม่ๆ) ยิ่งโดยเฉพาะข้อมูลจากนักวิชาการนั้นก็ไม่อาจคัดง้างกับข้อมูลที่มีมาอย่างเป็นระบบของรัฐและสังคมที่ถ่ายทอดมาเป็นเวลานาน (Huang and Liu, 2017)

อีกประการหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณายิ่งก็คือ ความพยายามรอบใหม่ในการจุดประเด็นประชาธิปไตยไทยนิยม นี้จะใช้ได้ผลจริงไหมในแง่ของการโฆษณาชวนเชื่อที่จะทำให้ประชาชนเชื่อฟังคล้อยตาม หากไม่ใช่ในแง่ของความเป็นไทยที่หลายคนอาจจะมีความเชื่อถืออยู่ในใจอยู่แล้ว

คำตอบจากงานวิจัยเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ ก็คือแม้ว่าในการถกเถียงเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อในสังคมเผด็จการนั้นมักจะพบว่า ยิ่งโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้น (Hard Propaganda) มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะยิ่งส่งผลในด้านตรงข้ามมากขึ้น

หมายถึงว่า ประชาชนจะยิ่งไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลเหล่านั้นมากขึ้น ยิ่งพูดอะไรก็ยิ่งไม่เชื่อ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง งานวิจัยใหม่ๆ ในสังคมเผด็จการ อย่างในกรณีของจีนนั้นพบว่า แม้ว่าเผด็จการอาจจะรู้ตัวว่าการโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้นมากขึ้นนั้นอาจจะไม่ได้ส่งผลดีในระยะยาวกับรัฐบาล แต่ในระยะสั้นนั้น “หน้าที่สำคัญ” ของการโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้นของรัฐบาลเผด็จการก็คือ การแสดงออกให้เห็นถึงอำนาจ และศักยภาพของรัฐบาลในการระดมทรัพยากรในการเข้าถึงประชาชน และส่งผลสำคัญให้เป็นนอกจากว่า “ฉันทำได้” “ฉันสั่งการได้” แล้วยังจะส่งผลระยะสั้นสำคัญ

อีกประการหนึ่งนั่นก็คือ การแสดงออกซึ่งความเข้มแข็งของรัฐและกลไกของรัฐนั้น ทำให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐนั้นอาจไม่กล้า หรือมีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นว่า การออกมาปะทะอย่างเปิดเผยกับรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบาก และอาจทำให้อย่างน้อยคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลก็ยังต้องสงวนท่าทีในพื้นที่สาธารณะอยู่บ้าง (Huang, 2017)

ลองดูในกรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เราก็อาจจะต้องทำความเข้าใจว่า ในสภาวะที่กองหนุนนั้นเริ่มสงสัยเคลือบแคลงในรัฐบาลมากขึ้น หรือเริ่มเงียบเสียงเชียร์ลงไปบ้าง และเรื่องราวมากมายกำลังรุมเร้ารัฐบาล โดยเฉพาะความนิยมลดลง (ดูในกรุงเทพฯโพลล์ล่างสุด เป็นต้น) นั้น การออกมาจุดประเด็นเรื่องของประชาธิปไตยไทยนิยม และ ความพยายามที่จะสั่งการหรือเชิญชวนให้ครูได้ไปเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ให้เด็ก และการเริ่มเดินหน้าโครงการรณรงค์และทำความเข้าใจประชาธิปไตยไทยนิยมผ่านกลไกของรัฐที่แผ่ขยายลงไปในทุกอณูของสังคมนั้น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ยังมีอำนาจในการสั่งการและระดมทรัพยากรอยู่

เช่นเดียวกับคนที่ชอบตั้งคำถามว่ารายการบังคับดูตอนเย็นนั้นไม่มีคนดูแล้วจะออกอากาศทุกช่องไปทำไม คำตอบหนึ่งก็คือ เนื้อหาในการนำเสนออาจจะสำคัญน้อยกว่าการแสดงออกให้เห็นว่า “ฉันนั้นมีอำนาจในการทำได้”

การโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้นเช่นนี้อาจจะไม่ได้มีผลมากนักในแง่เนื้อหาสาระ แต่ที่สำคัญมันก็น่าจะเปรียบได้กับ “สวนสนาม” ของกองกำลังของรัฐ

เพียงแต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถี่กว่า และมาหาเราตลอดเวลานั่นแหละครับ

หมายเหตุ : ท่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จาก B.Anderson. Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism. Verso, 1991, H.Huang. “The Pathology of Hard Propaganda”. Social Science Research Network Paper. 2017, และ H.Huang and X.Liu. “Historical Knowledge and National Identity: Evidence from China”. Social Science Research Network Paper. 2017.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image