วันสุดท้ายของนักโทษประหาร : โดย โคทม อารียา

 

“วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” เป็นชื่อหนังสือที่วิกตอร์ อูโก ได้ประพันธ์ไว้เมื่อปี ค.ศ.1829 เมื่อเขามีอายุ 27 ปี ผู้อ่านคงรู้จัก อูโก
ดี ผ่านนิยาย เช่น เหยื่ออธรรม (les Misrables) คนค่อมแห่งนอเทรอดาม (Notre-Dame de Paris) และผ่านกวีนิพนธ์หลายเล่ม เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสนับสนุนให้มีการปฏิรูปในหลายๆ เรื่อง รวมถึงการแก้ปัญหาความยากจน การให้พลเมืองทั้งหญิง-ชายทุกคนมีสิทธิเลือกตั้ง การจัดการศึกษาแก่เด็กทุกคน และการยกเลิกโทษประหารชีวิต เขาเป็นคนที่ชาวฝรั่งเศสรักมากที่สุดคนหนึ่ง ยามสิ้นชีวิตเมื่ออายุ 83 ปี มีคนกว่าสองล้านคนมาร่วมในขบวนศพจากอนุสาวรีย์ชัย (Arc de Triomphe) ถึงสุสานแห่งรัฐบุรุษ (Panthon) และมีการพิมพ์ฉายาลักษณ์ของเขาลงบนธนบัตรของฝรั่งเศส

หนังสือ “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” เป็นบทแปลที่ทรงคุณภาพของกรรณิกา จรรย์แสง และเป็นวรรณกรรมที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมอีกชิ้นหนึ่งที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ทั้งนี้ โดยการสนับสนุนของสถานทูตฝรั่งเศส

อูโกเขียนไว้ในคำนำว่า เราอาจมองหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นความคิดช่วงสุดท้ายของคนทุกข์คนหนึ่งก็ได้ หรือมองว่าเป็นผลงานของ “คนช่างฝันคนหนึ่งที่คอยสังเกตธรรมชาติเพื่ออภิบาลศิลปะ” ก็ได้ ส่วนผมคิดว่างานนี้เป็นทั้งผลงานศิลปะและการแสดงความเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ที่ทนทุกข์แสนสาหัสเมื่อคมมีดแห่งกิโยตินกำลังคืบใกล้เข้ามา

Advertisement

ในจินตนาการของอูโก การทรมานใจของนักโทษที่เขาถ่ายทอดออกมาก็คือ “ข้าพเจ้าทิ้งแม่ ทิ้งภรรยา และลูกคนหนึ่งไว้ข้างหลัง … เมื่อข้าพเจ้าตาย ก็จะมีผู้หญิงหนึ่งคนเสียลูก หนึ่งคนเสียสามี และอีกหนึ่งคนเสียบิดา … ข้าพเจ้ายอมรับว่าโทษทัณฑ์ที่ตกแก่ข้าพเจ้านั้นมีเหตุสมควร แต่หญิงผู้บริสุทธิ์สามนางนี้เล่า พวกหล่อนทำอะไรผิดอย่างนั้นหรือ … นี่ละหนอคือความยุติธรรม” เขาไม่ห่วงแม่และภรรยาสักเท่าไรหากรำพึงว่า “แต่หนูน้อยลูกของพ่อเล่า … แม่สาวน้อยคนนี้นี่เองที่ทำให้ข้าพเจ้าเจ็บปวดนัก!” มุมหนึ่งของโศกนาฏกรรมก็คือ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการกิโยติน มีคนพาลูกสาวที่ชื่อมารีมาหา เขาขอเพียงได้ยินคำว่าปาป๊าจากปากของมารี “จากปากน้อยๆ ขอเพียงอีกครั้งเดียว ครั้งนี้ครั้งเดียว! นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าใคร่ร้องขอเพื่อแลกกับสี่สิบปีของชีวิตที่เขาจะพรากเอาไป” แต่อนิจจา เธอจำเขาไม่ได้ เพียงบอกว่าปาป๊าตายไปแล้ว

“หนูสวดขอให้พระผู้เป็นเจ้าคุ้มครองท่านบนตักแม่ทั้งตอนเช้าตอนค่ำเลยค่ะ”

อูโกและนักปราชญ์คนอื่นๆ ได้เพียรพยายามให้มีการยกเลิกโทษประหาร มีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อการนี้นับครั้งไม่ถ้วน กว่าจะประสบผลสำเร็จก็ในสมัยประธานาธิบดีฟร็องซัวส์ มิตแตร์ร็องด์ โดยเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ชื่อโรแบรต์ บาเด็งแตร์ ฝรั่งเศสยกเลิกโทษประหารในปี ค.ศ.1981 หรือประมาณหนึ่งศตวรรษครึ่งหลังการริเริ่มของอูโกนั่นเอง
ในปีนั้นเองที่มีเชล ฟูโกลต์ ได้สรุปข้อถกเถียง เพื่อประโยชน์แก่การรณรงค์เรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่อื่นๆ ต่อไปว่า “การปฏิเสธที่จะตัดศีรษะใครก็ตาม ด้วยเพราะ (เห็น) เลือดพุ่งกระเซ็น เพราะเป็นเรื่องที่คนดีๆ เขาไม่ทำกัน และเพราะบางทีอาจเสี่ยงที่จะไปบั่นคอคนบริสุทธิ์นั้น ว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องง่าย แต่การปฏิเสธโทษประหารชีวิต ด้วยหลักการที่ว่าไม่มีอำนาจใด … มีสิทธิที่จะละเมิดชีวิตมนุษย์ นี่จึงจะเป็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญ” ครับ ควรหรือไม่ที่เราจะเปลี่ยนมุมมอง จากมุมมองของผู้กระทำ ซึ่งถามสังคมว่าจะกระทำการประหารดีหรือไม่ มาเป็นมุมมองของผู้ที่จะถูกกระทำ ว่าเขามีสิทธิหรือไม่ที่จะไม่ถูกละเมิดในขั้นพื้นฐานที่สุดด้วยการถูกตัดชีวิตให้สิ้นลง

Advertisement

ความเห็นของผู้ที่สนับสนุนการประหารชีวิตนั้นน่าจะมีพื้นฐานบนความกลัว กลัวภัยคุกคามจากอาชญากรรมที่รุนแรง จึงเรียกร้องให้มีการคุ้มกันสังคม คุ้มกันผู้บริสุทธิ์ คนร้ายถ้าไม่กำจัดออกไปเสีย ก็อาจออกมาก่ออาชญากรรมได้อีกเมื่อพ้นโทษ

คนร้ายที่เห็นว่าอาชญากรรมใดมีโทษถึงประหารก็อาจยับยั้งชั่งใจไม่ทำความชั่ว โทษประหารจึงมีผลในทางป้องปรามการก่ออาชญากรรม เรื่องเหล่านี้ยากที่จะถกเถียงด้วยเหตุผลหรือสถิติตัวเลขได้ แม้จะมีตัวเลขมากมายที่ระบุว่าการป้องปรามไม่เกิดขึ้นจริง

และการยกเลิกโทษประหารในประเทศส่วนใหญ่ของโลก ก็ไม่ทำให้อาชญากรรมร้ายแรงในประเทศเหล่านั้นเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ส่วนในประเทศไทย การที่ผู้ถูกลงโทษประหารเกือบครึ่งหนึ่งต้องโทษเพราะยาเสพติดนั้น ดูเหมือนจะไม่ช่วยให้ยาเสพติดลดลงแต่อย่างใด เราคงต้องใช้เวลาขัดเกลาด้วยคำสอนของทุกศาสนาที่ถือความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตเหนืออื่นใดกันต่อไป พร้อมทั้งเล่าเรื่องที่ชี้การเปล่าประโยชน์ของโทษประหารไปเรื่อยๆ ในที่นี้ ขอยกเรื่องที่ท่านทูตฝรั่งเศสยกมาเล่าเรื่องหนึ่งที่ค้านความเชื่อที่ว่า คนที่เห็นการประหารชีวิตจะกลัวที่จะทำความผิด
เรื่องเล่ามีดังนี้ ในท่ามกลางฝูงชนที่มามุงดูการประหารชีวิต และร้องตะโกนอย่างบ้าคลั่งให้ฆ่าให้ตาย มีหนุ่มน้อยคนหนึ่ง ซึ่งอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น “ถูกจับและถูกประหารชีวิตโทษฐานฆ่าเด็กชายอายุเจ็ดปีรวมอยู่ด้วย นี่เป็นคำตอบที่ชี้ให้เห็นว่าการลงโทษประหารชีวิตเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างนั้น ไร้ผล”

ในการสำรวจความคิดเห็นทางเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพจากกลุ่มตัวอย่าง 1031 คน พบว่ามีเพียง 9% ที่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหาร อย่างไรก็ดี ยังมีความหวังอยู่บ้างว่า ผู้ที่เห็นด้วยดังกล่าวเพิ่มเป็น 22% เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูล อนึ่ง แม้ในประเทศยุโรปที่ยกเลิกโทษประหารแล้วราวสิบประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เคยอยู่ในอิทธิพลหรือภายใต้สหภาพโซเวียต) คนส่วนใหญ่ก็ยังเห็นด้วยกับการมีโทษประหาร ดังนั้น การรณรงค์ยกเลิกโทษนี้ในประเทศไทย คงต้องใช้เวลา และควรเริ่มต้นอย่างจริงจังแต่บัดนี้

แนวทางการรณรงค์คงต้องรอบด้าน เช่น ทางกฎหมาย โดยชี้ถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับโดยสากล การมีโทษทางอาญาที่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิดและการให้โอกาสผู้กระทำผิดที่จะแก้ไขตนเอง ทางคำสอนของศาสนา โดยชี้ถึงความกรุณา ไม่อาฆาตมาดร้ายกัน ทางสังคม ที่เน้นการเรียนรู้และการมีมุมมองที่เปิดกว้าง แต่ที่สำคัญและจะมีผลจริงจังคือการรณรงค์ทางการเมือง เราควรสนับสนุนผู้นำทางการเมืองที่มีความมุ่งมั่นที่จะนำสังคมด้วยอุดมคติ ถึงแม้ว่าอุดมคตินั้นจะมีคนจำนวนมากที่เห็นต่างอยู่ในขณะนี้ก็ตาม

ผู้ที่จะช่วยกันรณรงค์ในเรื่องนี้ ควรรวมถึงฝ่ายต่างๆ ให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยผู้ที่บทบาทนำในทางราชการ มีอาทิ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในบรรดาองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรที่เป็นหลักมี อาทิ องค์กรนิรโทษกรรมสากล และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราอาจต้องขอความช่วยเหลือจากบรรดามิตรประเทศซึ่งได้ยกเลิกโทษประหารไปแล้ว โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ซึ่งน่าจะช่วยได้โดยการสนับสนุนทั้งทางข้อมูล วรรณกรรม และทางศิลปะ เช่น การแปลหนังสือของอูโกเล่มนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง รวมถึงการจัดกิจกรรมเช่นการประชุมที่สถานทูตฝรั่งเศสเคยจัดร่วมกับสำนักงาน กสม. เมื่อเดือนธันวาคม 2560

ที่สำคัญคือ การรณรงค์พึงใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และใช้สื่ออย่างเหมาะสม

ข้อเรียกร้องในการรณรงค์อาจมีเป็นลำดับไปตามที่ กสม. เคยเสนอไว้คือ

ระยะที่ 1 คงการพักการปฏิบัติ คือไม่นำนักโทษมาประหารชีวิตซึ่งมีการพักเช่นนี้มาเกือบ 9 ปีแล้ว
ระยะที่ 2 แก้กฎหมายไม่ให้มีการบัญญัติโทษประหารชีวิตสถานเดียว
ระยะที่ 3 ยกเลิกโทษประหาร กรณีความผิดที่ไม่ใช่อาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดดังที่กำหนดพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
ระยะที่ 4 ยกเลิกโทษประหารสำหรับอาชญากรรมทุกประเภท

ผมหวังว่าหนังสือ “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” จะมีส่วนช่วยให้ผู้อ่านรักษาภาพของคนคนหนึ่งที่ทุกข์ทรมานแสนสาหัสใว้ในใจ เพื่อปลุกภาวะจิตแห่งความกรุณาให้แผ่กว้างถึงนักโทษทุกๆ คน

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image