ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ติดตามแก้ปัญหาเขตอุทยานฯทับลานทับซ้อนกับที่ดินชาวบ้าน(มีคลิป)

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน รักษาการประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะ พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่บริเวณที่มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่ทับซ้อนกับที่ดินของราษฎรในพื้นที่โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ตำบลบ้านราษฎร์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจากการลงพื้นที่เสร็จทางผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะ ร่วมประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนที่ดินของราษฎรในพื้นที่อำเภอครบุรี ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลครบุรีใต้ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา โดยมีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครราชสีมา ผู้แทนจากกรมป่าไม้
นายอำเภอเสิงสาง นายอำเภอครบุรี ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาร่วมให้ข้อมูลกันเป็นจำนวนมาก

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน รักษาการประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ข้อร้องเรียนกรณีการประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และการประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติหลายแห่งทับซ้อนที่ดินของราษฎรในพื้นที่โครงการจัดสรรที่ดินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) กินพื้นที่บางส่วนของ 3 อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ อำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี และอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันราษฎรบางส่วนมีเอกสารหลักฐาน เช่น ส.ค.1 , น.ส. 3 ก. , โฉนดที่ดิน , ส.ป.ก. 4-01 และ ส.ท.ก. เป็นเหตุให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเสียหายในสิทธิการครอบครองพื้นที่ ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างบูรณาการและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงได้มีกำหนดลงพื้นที่เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรวบรวมประเด็นปัญหาของเรื่องร้องเรียนนี้ให้ครบถ้วน เพื่อร่วมกันหารือและพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ทั้งนี้ในเบื้องต้นทางคณะทำงานได้ลงพื้นที่สืบหาข้อมูลมาแล้วหลายครั้งและมีการประชุมคณะทำงานร่วมกันแล้วถึง 7 ครั้ง พบว่าปัญหาดังกล่าวเคยมีการพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาและมีมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาแล้วถึง 5 มติ แต่ยังไม่มีการแก้กฎหมายหรือข้อระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ จึงทำให้ยังคงมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขต ทำให้ประชาชนยังคงมีความกังวลรวมถึงมีบางส่วนถูกดำเนินคดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากนี้ทางคณะทำงานจะมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อพิจารณาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเป็นธรรมที่สุด ตามแนวทางที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อให้ปัญหานี้คลี่คลายลงได้โดยเร็ว ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปออกมาภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหลังจากที่มีข้อสรุปทุกอย่างออกมาแล้วจะส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำไปปรับแก้กฎหมายและข้อระเบียบต่างๆต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image