สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระธาตุพนม (จ. นครพนม) บนภูกำพร้า แลนมาร์กดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว

หลุมขุดค้นนอกระเบียงคดด้านทิศใต้ขององค์พระธาตุพนม (หลุม TP.1) กรมศิลปากร ขุดค้นที่วัดพระธาตุพนม อ. ธาตุพนม จ. นครพนม (ภาพโดย อานนท์ วันเพ็ญ)

พระธาตุพนม (จ. นครพนม) มีขึ้นหลัง พ.ศ. 1000 เป็นผลจากการขยายตัวของการค้าโลก เข้าถึงอุษาคเนย์ทางทะเลสมุทร แล้วกระตุ้นให้มีความเคลื่อนไหวการค้าภายในภูมิภาค ซึ่งเป็นการค้าทางบก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างอ่าวเมาะตะมะ (พม่า) กับอ่าวตังเกี๋ย (เวียดนาม) ต้องผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ไทย) กับลุ่มน้ำโขง (ลาว)

ความคิดในกรอบโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะแบบอาณานิคม เห็นพระธาตุพนมแค่ศิลปกรรมตั้งโดดๆ ไม่เกี่ยวข้องสภาพเศรษฐกิจการเมืองและสังคม เลยเป็นเรื่องตายซากยากจะฟื้น

 

Advertisement

แลนด์มาร์กดึกดำบรรพ์

พระธาตุพนม ตั้งอยู่บนภูกำพร้า ริมแม่น้ำโขง

นอกระเบียงคดด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุพนม มีหลุมขุดค้น (หลุม TP.2) กรมศิลปากร ขุดค้นที่วัดพระธาตุพนม อ. ธาตุพนม จ. นครพนม (ภาพโดย อานนท์ วันเพ็ญ)

ภูกำพร้า ยุคนั้นเสมือนแลนด์มาร์ก (หลักหมาย) สำคัญสุดเมื่อมองจากเรือลอยในแม่น้ำโขง หรืออยู่ฝั่งตรงข้าม (กำพร้าในที่นี้หมายถึง บริเวณโดดเด่น รกร้าง ไม่มีการบุกรุกเข้าถึงจากผู้คน)

Advertisement

อยู่บริเวณบรรจบกันหรือชุมทางคมนาคมอย่างน้อย 4 ทิศทาง ได้แก่

แนวเหนือ-ใต้ คือ แม่น้ำโขง เป็นแกนใหญ่สุด

แนวตะวันออก คือ เซบั้งไฟ (ลำน้ำบั้งไฟ) ไหลจากพรมแดนลาว-เวียดนาม ไปทางทิศตะวันตก ลงแม่น้ำโขงตรงข้ามภูกำพร้า

แนวตะวันตก คือ ลำน้ำก่ำ ไหลจากหนองหานหลวง (จ. สกลนคร) ไปทางทิศตะวันออก ลงแม่น้ำโขงใกล้ภูกำพร้า

เส้นทางข้ามภูมิภาค

กลองทอง (มโหระทึก) เป็นพยานว่ามีการเดินทางค้าขายไปมาหาสู่ข้ามภูมิภาคทุก  ทิศทาง ไม่น้อยกว่า 2,000 ปีมาแล้ว

เพราะกลองทองมีแหล่งผลิตหลักอยู่ทางมณฑลกวางสี (จีน) และดองเซิน (เวียดนาม) แต่มีแหล่งทองแดงโลหะหลักเพื่อผลิตกลองทองอยู่ลุ่มน้ำโขง

แล้วพบกลองทองหลายใบตลอดแนวสองฝั่งโขง ตั้งแต่หลวงพระบาง, เวียงจัน, สะหวันนะเขต, นครพนม, มุกดาหาร ฯลฯ รวมทั้งในวัดพระธาตุพนม

โดยเส้นทางนี้ กลองทองสำริดพบกว้างขวางถึงบ้านเชียง (อุดรธานี), ลำน้ำโพ (อุตรดิตถ์) จนถึงสุโขทัย, ตาก ฯลฯ

พระธาตุพนมโดยคนนานาชาติพันธุ์

คนนานาชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการก่อสร้างพระธาตุพนม ดูได้จากลักษณะสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมส่วนฐานพระธาตุ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะว่าเกี่ยวข้องกับงานช่างของจาม (ในเวียดนาม)

ภาพเขียนสีที่ผาแต้ม (อ. โขงเจียม จ. อุบลฯ) กับภาพเขียนและภาพสลักต่างๆ ที่พบในเขต จ. สกลนคร เป็นหลักฐานสนับสนุนแข็งแรง

พระธาตุพนมสมัยหลังๆ มีคนหลายกลุ่มเหล่าหลายเผ่าพันธุ์ เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ เป็นพยานว่าเป็นพระธาตุของนานาชาติพันธุ์สุวรรณภูมิ ไม่ใช่ของใครพวกเดียว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image