‘ไสลเกษ’รับงานหินศาล หลังพ.ร.บ.ประเมินผลสัมฤทธิ์ฯบังคับใช้

“ไสลเกษ”รับงานหินศาล หลังพ.ร.บ.ประเมินผลสัมฤทธิ์ฯบังคับใช้ ตั้งคำถามใช่ตุลาการภิวัฒน์หรือไม่ เปิดช่องที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีนอกเหนือที่กฎหมายเขียนไว้ ยันศาลไม่ทำหน้าที่แทนนิติบัญญัติ 3 อำนาจต้องคานกัน ภูมิใจเป็นที่ไว้ใจชำระความเดือดร้อนประชาชน เผยอยู่ระหว่างตั้งกก.ศึกษาก่อนใช้จริง ยกกรณี กัญชา-กระท่อม-ปฏิรูปที่ดิน ตัวอย่างน่าเเก้กฎหมายหรือไม่

เมื่อวันที่ 2 มกราคม นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้ให้ความเห็นพ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ความจริงแล้วกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีเจตนาดี เพราะมองย้อนกลับไปเรามีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายหลายฉบับที่ผ่านมาอย่างน้อยก็ 2 คณะที่มีความเห็นว่ากฎหมายในประเทศไทยหลายฉบับที่ออกมาล้าสมัยไปแล้ว เป็นกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกเป็นกฎหมายและสร้างภาระให้กับประชาชน ก็พยายามที่จะยกเลิกเพิกถอนกฎหมายเหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้แต่ปรากฎว่า กระบวนการยกเลิกกฎหมายไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องเอาเข้าไปรัฐสภา

“ปรากฏว่าที่ผ่านมามีเรื่องอื่นที่มีลำดับความสำคัญยิ่งกว่าการแแก้ไขกฎหมายเก่า ทำให้แนวคิดเรื่องการยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยต่างๆเป็นผลสัมฤทธิ์ได้น้อย เข้าใจว่า สนช. ชุดที่แล้วก็คิดว่าทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือให้ใช้ตุลาการภิวัตน์เลย คือโดยกำหนดว่ากฎหมายฉบับใดถ้าออกมาแล้วไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เป็นกฎหมายที่โดยพฤติการณ์แล้วสร้างภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน ก็ให้อำนาจศาลในการที่จะพิจารณา แต่มีข้อจำกัดคือว่าถ้ามีโทษทางอาญาให้ศาลมีอำนาจที่จะลงโทษน้อยกว่ากำหนดได้ ถ้ามีโทษทางปกครองให้ศาลซึ่งคงเป็นศาลปกครองสามารถจะลงโทษทางปกครองได้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ และเช่นเดียวกันทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองให้มีอำนาจกำหนดมาตราการอื่นๆซึ่งอาจจะเป็นมาตรการในทางแพ่งให้เบาลงกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ โดยในส่วนของศาลยุติธรรมวิธีการนี้จะเกิดขึ้น เมื่อศาลเห็นเองหรือคู่ความร้องขอ เช่นพอมีการร้องขอเข้ามา ก็ส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกาพิจารณา ประธานศาลฎีกาก็จะเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แล้วก็จะมาให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาว่า

1.กฎหมายนี้ยังจำเป็นหรือสร้างภาระให้กับประชาชนหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเป็นเช่นนั้น ศาลจะมีมติไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงโทษหรือจะเป็นมาตราการต่างๆ วิธีการนี้บอกได้เลยว่าไม่ง่ายในการทำเพราะให้ศาลเป็นผู้พิจารณาว่ากฎหมายหมดความจำเป็น ซึ่งศาลเป็นผู้บังคับใช้และตีความกฎหมาย ศาลอาจจะต้องทำการบ้านเยอะ อาจจต้องไปสำรวจความรู้สึก ความคิดเห็นของสังคมเหมือนกันนะว่า กฎหมายตัวนี้ในสายตาชาวบ้านหมดความจำเป็นไปแล้วหรือไม่ อันนี้คือโจทย์ยากของศาล พอมาบอกว่ากำหนดโทษเบากว่ากฎหมาย หนักไม่ได้ต้องเป็นคุณอย่างเดียว ต้องมาคิดว่าเบาแค่ไหน เพราะพอกำหนดไปแล้วมันจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปกับคดีอื่นๆทุกคดีหรือไม่ ซึ่งโดยสภาพของคดีอื่นๆทั่วไปแต่ละคดีจะมีพฤติการณ์ในการทำความผิด หรือเรื่องต่างๆรวมถึงสิ่งแวดล้อมในคดีไม่เหมือนกัน ถ้าจะกำหนดเหมือนกันทุกเรื่อง คิดว่าคงเป็นเรื่องประหลาดเหมือนกัน แต่ถ้าศาลลดโทษให้คดีหนึ่งแล้วแต่อีกคดีหนึ่งจะต้องลดทุกคดีหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นโจทย์ที่ยากหมดเลยก็มีโอกาสที่จะเป็นบรรทัดฐานได้

Advertisement

“ผมคิดว่าเรื่องนี้ถ้าฟังข้อทักท้วงในชั้นที่มีการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ก็มีการอภิปรายกันพอสมควรว่าศาลใช้อำนาจนิติบัญญัติหรือไม่ ซึ่งในการที่จะให้ศาลไปใช้อำนาจนิติบัญญัติ แล้วเป็นตุลาการภิวัฒน์มันจะเหมาะกับสังคมไทยหรือไม่ และสิ่งที่ว่านี้มันใช่ตุลาการภิวัฒน์จริงหรือไม่ อันนี้ก็มีคำถามเยอะสิ่งเหล่านี้ศาลคงไม่มีหน้าที่ ที่จะมาบอกว่าสิ่งนี้เป็นการล่วงละเมิดของอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือเป็นการใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์โดยเหมาะสมหรือไม่ เพราะกฎหมายมอบอำนาจมาให้ทำอย่างนี้ แต่ผมคิดว่าข้อนี้จากการที่ศาลฎีกาเราได้เคยประชุมกันไปบ้างแล้วเพื่อออกข้อกำหนด เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้เราก็เป็นกังวลว่าศาลจะอำนวยความยุติธรรม แต่เราจะไม่ทำหน้าที่เป็นนิติบัญญัติเองอันนี้ชัดเจน”

เมื่อถามถึงปัญหาในทางปฏิบัติต่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ปัญหาตามมาจากกฎหมายฉบับนี้คือ หากคดีทุกคดียื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยหมดว่ากฎหมายหมดความจำเป็น และสร้างภาระให้กับประชาชน ลองนึกถึงภาพ หากศาลฎีกาต้องประชุมใหญ่ทุกคดีในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร นึกออกหรือไม่ว่าพอยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เอาเข้าที่ประชุมใหญ่โดยอาศัย พ.ร.บ.ฉบับนี้ศาลต้องหยุดการพิพากษาไว้แล้วก็รอที่ประชุมใหญ่ถ้าเป็นอย่างนี้ความหวังที่ว่าคดีจะรวดเร็วทั้งหมด กระบวนการเป็นไปไม่ได้เลย ตรงนี้จึงอยู่ระหว่างการทำข้อกำหนด จะต้องมาพิจารณาว่าจะต้องจำกัดประเภทของคดีที่เห็นว่าจำเป็นจริงๆแล้วก็ไม่ใช่เปิดโอกาสให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการประวิงคดี ตนยังคิดต่อด้วยซ้ำว่า สมมุติมีคดีอย่างนี้ขึ้นมาจริงๆศาลเองต้องตั้งคณะทำงานฝ่ายวิชาการเข้ามาศึกษา ความเป็นมาของกฎหมายสภาพการบังคับใช้ของกฎหมายแล้วที่บอกว่ากฎหมายหมดความจำเป็นจะต้องเอาอะไรมาวัด ต้องมีคณะทำงานศึกษาจริงจังแล้วก็นอกจากศึกษาเรื่องนี้แล้ว ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะได้เสียงสะท้อนจากสุดภาคส่วนไหนของสังคม เพราะคงจำได้ว่ากฎหมายฉบับนี้เขียนไว้ว่า ต่อไปเวลาจะยกร่างกฎหมายฉบับใดต้องมีการประเมินผลกระทบของทางกฎหมายทุกฉบับโดยการสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะต้องได้รับผลกระทบทางกฎหมายนี้ ว่าเขารู้สึก เขามีความคิดเห็นอย่างไร คล้ายๆกับการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือEIA ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมทุกฉบับ ที่กล่าวมาคือโจทย์ที่ยากสำหรับศาล แต่ว่าเข้าใจที่ฝ่ายนิติบัญญัติที่ผ่านมาต้องการที่จะปลดภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่จะไปอาศัยกลไกทางนิติบัญญัติโดยปกติ ก็ไม่ก้าวหน้า ก็หวังทางฝ่ายตุลาการซึ่งก็คือศาล ตนก็ต้องขอบคุณเพราะแสดงว่าสถาบันศาลยังเป็นที่ไว้วางใจที่จะให้แก้ความเดือดร้อนกับประชาชน

“ผมก็นึกเล่นๆนะว่าเอ๊ะอย่างนี้รัฐบาลยุคนี้มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องกัญชาก็ดี เกี่ยวกับเรื่องสารเสพติดบางประเภทเนี่ยก็เลยมีคำถาม กระท่อมที่ชาวบ้านใช้มันสมควรจะเป็นสารเสพติดหรือไม่และสร้างภาระให้กับประชาชนจริงไหม เพระว่าถ้าเราไปดูวิถีชีวิตของชาวบ้านนะ เขาออกไปทำงานกรีดยาง เขาก็เคี้ยวกระท่อมก็ไม่เห็นเขาจะสร้างปัญหาอะไรให้กับสังคม สุขภาพเขาก็ไม่ได้เลวร้าย แต่ทีนี้วันดีคืนนี้พอเรามากำหนดให้เป็นยาเสพติดในบัญชีก็กลายเป็นความผิดทันที แล้วอย่างนี้เกินความจำเป็นหรือไม่ หรืออีกอย่าง ที่น่าคิดเราผ่านพ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดิน พอวันดีคืนดีมีการประกาศให้ทั้งอำเภอทั้ในเขตปฏิรูปที่ดิน พอประกาศเขตปฏิรูปที่ดินปุ๊ปหน่วยงานปฏิรูปที่ดินต้องไปหางบประมาณมาซื้อที่ดินคืนแล้วนำมาปฏิรูปแล้วก็แจกจ่ายให้กับเกษตกร แต่ปรากฎว่าเอาเงินจากไหน วันนั้นถึงวันนี้เป็นสิบปีที่ดินทั้งอำเภอยังเป็นเขตปฏิรูปที่ดินอยู่โดยที่ชาวบ้านทำอะไรไม่ได้เพราะอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน คำถามกฎหมายอย่างนี้เป็นกฎหมายที่เกินความจำเป็นแล้วสร้างภาระหรือไม่ ผมว่าน่าคิดนะ แต่เรื่องนี้ยาก บอกเลยว่ายาก แค่ตัวอย่างที่ยกมาเนี่ย ศาลเองก็ต้องระมัดระวังเพราะเราต้องระลึกว่าเราคืออำนาจตุลาการที่มาถ่วงดุลกันในระบอบประชาธิปไตย 3 อำนาจมันต้องคานกัน” ประธานศาลฎีกากล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่าในทางปฏิบัติมีการใช้กฏหมายนี้แล้วหรือไม่ นายไสลเกษกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าน่าจะใช้แล้วแต่ว่าบังเอิญกฎหมายลูกที่เป็นพวกข้อบังคับกฎระเบียบที่จะต้องออกมาตามกฎหมายฉบับนี้ จะต้องออกกฎหมายภายใน 2 ปีถ้าไม่ออกภายใน 2 ปีให้ใช้กฎหมายในทางที่เป็นคุณ กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเดียว ถ้าจะทำอะไรที่เป็นโทษจะต้องออกข้อบังคับออกอะไรต่างๆ มาภายใน 2 ปีอย่างนี้เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image