ใช้เงินภาษีบาป หรือส่งเสริมสุขภาพดี

กรณีกระแสข่าวกระทรวงการคลังเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยงานบริการภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. … ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญให้เก็บเงินจากบุหรี่อีกซองละ 2 บาท นำเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง เป็นเงินปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท

ชัดเจนแล้วว่า เงินกองทุนบัตรทองที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลปีละกว่า 1 แสนล้านบาท และดูแลคนไทยตามสิทธิกว่า 48 ล้านคน มีแนวโน้มไม่เพียงพอ ยิ่งประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย ยิ่งต้องใช้เงิน จึงต้องมองหาแหล่งเงินเพิ่มเติม

คาดการณ์กันว่า วันที่ 2 ตุลาคมนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตาม!

แต่ที่แน่ๆ ประเด็นนี้ พบว่า กระทรวงสาธารณสุขเคยทำประชาพิจารณ์มาแล้วครั้งหนึ่ง พบว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่ให้เก็บเงินสมทบจากสินค้าบุหรี่ 2 บาทต่อซอง เพียงประเภทเดียวเข้ากองทุนบัตรทอง ไม่รวมสินค้าภาษีบาป ทั้งจากสุรา เบียร์ และยาเส้น เหมือนกับการเก็บเงินภาษีเข้ากองทุนอื่นๆ
แน่นอนว่า หยิบประเด็นนี้เหล่านี้ขึ้นมาครั้งใด ก็มีเรื่องให้ถกเถียง

Advertisement

กลุ่มแรกที่คัดค้าน คงหนีไม่พ้น ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบุหรี่ เพราะหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะกระทบทันทีจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกซองละ 2 บาท เนื่องจากอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 ทำให้ยอดขายลดเหลือ 60% จากที่เคยมีกำไรซองละ 7 บาท เหลือซองละไม่ถึง 1 บาท หากต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกซองละ 2 บาท ก็ขาดทุน และอาจกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงชาวไร่ยาสูบด้วย เพราะอาจทำให้ยอดซื้อใบยาสูบลดลง

อีกกลุ่มที่จะคัดค้าน คือ ผู้สูบบุหรี่ ที่มีแนวโน้มว่าต้องควักเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นจากเดิม แม้จะเป็นแรงจูงใจให้อยากเลิกบุหรี่เพราะแพง แต่ก็ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกคนที่สูบ
เรื่องนี้คงไม่จบลงง่ายๆ

ไม่ได้คัดค้าน แถมยังสนับสนุนให้มีการนำเงินจากภาษีบาปทุกประเภทมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ในความเห็น หากมุ่งแต่จะหาแหล่งเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว เชื่อว่า มีเท่าไรก็ไม่พอ เพราะเมื่อป่วยแล้วการรักษาจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงตามระดับอาการ และโรคที่เป็น แต่หากเปลี่ยนเป็นการดูแลสุขภาพของประชาชนไม่ให้เจ็บป่วย น่าจะเป็นการลงทุนที่น้อยกว่า
บางทีเราอาจจะต้องหันกลับมาพูดเรื่อง “สร้าง” นำ “ซ่อม” กันอย่างจริงจัง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image