กาบัตรเลือกตั้ง”ทรีอินวัน”…กับผู้มีสิทธิหน้าใหม่

การเลือกตั้งที่จะมาถึงมี “ความใหม่” อยู่หลายเรื่อง ภายใต้กฏกติกาใหม่ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบทั้งหลายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

โดยเฉพาะการนับคะแนนใหม่ที่เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ที่มาจากการกาบัตรลงคะแนนเลือกตั้งเพียงใบเดียว

เป็นการลงคะแนนเฉพาะส.ส.เขต ทั้ง 350 เขต

จากนั้นจะนำคะแนนรวมจากทุกพรรคทั้งหมดมาหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนส.ส.ทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร จากระบบเขต 350 คนและระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน เพื่อหาค่าเฉลี่ยว่าส.ส.1 คนจะมีคะแนนเท่าไร

Advertisement

แล้วนำคะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.1 คน ไปหารคะแนนของแต่ละพรรคที่ได้ เพื่อหาจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมี ส.ส.

หากพรรคใดได้ส.ส.เขตน้อยกว่าจำนวนส.ส.ที่พรรคจะพึงมี ก็จะได้รับจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มให้ครบตามจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมี

แต่หากพรรคไหนได้ส.ส.เขตมากกว่าหรือเท่ากับจำนวนส.ส.ที่จะพึงมีได้แล้ว ก็ไม่ได้รับจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติมอีก

Advertisement

ดังนั้น แต่ละพรรคจึงต้องปรับกลยุทธ์ให้รับกับกฎกติกาใหม่ เพื่อหวังจะดึงคนลงคะแนนให้ตัวเองในบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว

ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ต้องคิดหนักหลายตลบก่อนจะลงคะแนน เพราะบัตรใบเดียวแต่ต้องคำนึงถึง 3 ส่วน
หนึ่ง…ผู้สมัครส.ส.เขต
หนึ่ง…ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ
หนึ่ง…รายชื่อที่พรรคจะเสนอเป็นนายกฯ

ถ้าผูกพันกับคนที่ลงสมัครส.ส.เขต สังกัดพรรคที่ 1 แต่ก็ชอบรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ พรรคที่ 2 แล้วยังปลื้มคนของพรรคที่ 3 เสนอชื่อเป็นนายกฯ…แต่ต้องกาบัตรแบบ “ทรีอินวัน” แล้วจะลงคะแนนให้ใครดี…ปวดขมับ

“ความใหม่” อีกเรื่องในการเลือกตั้งที่จะมาถึง นอกจากจะมีนักการเมืองหน้าใหม่ป้ายแดงหลายคนแห่ลงสนามเลือกตั้งแล้ว ยังมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ ที่จะมีโอกาสจะได้กาบัตรครั้งแรก หลังจากเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อกรกฏาคม 2554 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว (ไม่นับการเลือกตั้งการเลือกตั้งเมื่อกุมภาพันธ์ 2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะ)

ขณะที่รัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง ไม่ใช่วันที่ 1 มกราคมเหมือนที่ผ่านมา มีการประเมินว่าจะมีผู้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกกว่า 6.4 ล้านคน

จึงเป็นเค้กที่พรรคการเมืองต่างๆ หวังจะแย่งชิงคะแนนจากกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก
แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ต้องดูว่ายุคปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับการเมืองมากน้อยแค่ไหน และรับรู้เกี่ยวกับการเมืองอย่างไร ในด้านบวกหรือลบ พร้อมจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่

จะ “No Vote” ไม่ไปเลือกตั้ง หรือจะไป “Vote No” ไปกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน

น่าเสียดายที่ “ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554” ของ กกต.ไม่ได้เก็บข้อมูลจำแนกอายุของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เลยไม่รู้ว่าคนแต่ละช่วงอายุไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากน้อยแค่ไหน

แต่อาจารย์“อรรถสิทธิ์ พานแก้ว” จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า “คนรุ่นใหม่ออกไปใช้สิทธิน้อยกว่าคนที่มีอายุ ” พร้อมแนะนำให้พรรคต่างๆ ไปดึงฐานจากคะแนนเสียง “Vote No” กับบัตรเสียจะดีกว่า เพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 มีคะแนนรวมกัน 10% หรือกว่า 3 ล้านคะแนน

ต้องลุ้นกันว่า คนรุ่นใหม่ที่้มีสิทธิครั้งแรก รวมถึงผู้ที่เคยมีสิทธิอยู่แล้วจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากน้อยแค่ไหน แล้วการกาบัตรแบบ “ทรีอินวัน” ชวนปวดหัวแบบนี้ จะมีผลอะไรหรือไม่กับการออกไปใช้สิทธิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image