หลากหลายมุมมองตีความ ‘รณรงค์-ประชามติ’

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการ และนักการเมือง ต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขมาตรา 7 โดยตัดคำว่า “รณรงค์” ออกจากการออกเสียงประชามติ โดยให้ใช้เป็นบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็น เกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย อาจจะส่งผลต่อการตีความในภายหลัง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการอิสระ

กฎหมายประชามติ นอกจากเรื่องของการกำหนดโทษที่ค่อนข้างรุนแรง ยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นปัญหามากและแสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่ไม่เคารพในหลักการประชาธิปไตย เรื่องแรกที่ชัดเจนคือการตัดสิทธิในการรณรงค์ทิ้งไป แค่นี้ก็เป็นหลักการที่มีปัญหาแล้ว เพราะในร่างเดิมมีการพูดอย่างชัดเจนว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการรณรงค์ได้

สิ่งที่เห็นคือตัดประเด็นการรณรงค์ทิ้งไป และมีมุมมองว่าการรณรงค์คือความวุ่นวาย โดยเปลี่ยนเป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดแทน ซึ่งแปลได้ว่ากฎหมายประชามติฉบับนี้ไม่ได้คุ้มครองเสรีภาพในการรณรงค์ และไม่ได้มองว่าการรณรงค์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการลงประชามติ แค่ประเด็นนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่มีปัญหามากแล้ว

หลังจากนี้กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์จะทำไม่ได้อีกต่อไป เพราะกฎหมายประชามติไม่ได้คุ้มครองเอาไว้

Advertisement

ประเด็นนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก เพราะเข้าใจว่าแต่เดิมสิทธิเสรีภาพในเรื่องของการรณรงค์น่าจะมีอยู่หากไม่ไปขัดกับกฎอัยการศึก หรือคำสั่งของ คสช. ไม่ปลุกปั่นหรือก้าวร้าว อย่างกรณีของ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง ที่ได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ และไปไม่เกิน 5 คน และเห็นว่าการรณรงค์สามารถทำได้และไม่ขัดคำสั่ง คสช. ก็ไปรณรงค์กัน เช่นเดียวกับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่มีมุมมองในลักษณะนี้ แต่ถ้าดูในกรอบของกฎหมายประชามติก็เห็นได้ว่าไม่สามารถทำได้อีกแล้ว

ค่อนข้างมั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้มีไว้เพื่อพยายามจำกัดการแสดงความคิดเห็นของคนที่เห็นแตกต่างให้มีพื้นที่ในการพูดให้น้อยลง อาจจะเหลือเพียงการแสดงออกเพียงปัจเจก แต่การแสดงออกเป็นกลุ่มไม่สามารถที่จะทำได้

ส่วนตัวมองในทางกลับกันว่า การไม่ให้แสดงออกอย่างเต็มที่จะทำให้เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นประเด็นที่ทำให้คนรับหรือไม่รับ แต่ประชาชนจะตัดสินใจล่วงหน้าจากความพอใจหรือไม่พอใจที่ถูกปิดกั้นในขั้นตอนการทำประชามติมากกว่า

Advertisement

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ในมาตรา 7 ไม่มีการใช้คำว่า รณรงค์ ไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัดว่า เขาหมายความหรือให้ตีความกว้างมากแค่ไหน เพราะในมาตรา 7 ที่ สนช.ปรับแก้ไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน สนช.ใช้คำว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อให้บุคคลสามารถเผยแพร่ความคิดเห็นของตนเองที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญได้”

ไม่แน่ใจคำว่า เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นว่าจะทำได้แค่ไหน ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับผิดชอบตรงนี้ตามกฎหมายจะต้องออกมาอธิบายความแน่ชัดกับประชาชนว่า สามารถมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้มากน้อยแค่ไหน

การตัดคำว่า รณรงค์ ออกไปนั้นจะไปจำกัดสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ มองว่าสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่คืนสู่ภาวะปกติ อยู่ในภาวะพิเศษ แต่โดยปกติหากเรามีความเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็สามารถบอกคนอื่นได้ว่าเราเชื่อแบบนั้นแบบนี้ เพียงแต่ตอนนี้สถานการณ์ยังไม่คืนสู่ภาวะปกติ หากมีการรณรงค์ก็ส่อว่าอาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นได้ สังเกตได้จากการที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ปาฐกถาในงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ 2559 มีการต่อต้านจากกลุ่มนักศึกษา ทั้งที่ยังไม่เริ่มต้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ใช่การเริ่มต้นรณรงค์ประชามติ ก็ส่อว่ามีความวุ่นวายเกิดขึ้นแล้ว

สามารถ แก้วมีชัย, เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
สามารถ แก้วมีชัย, เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช

 

สามารถ แก้วมีชัย

คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ

พรรคเพื่อไทย

ดูมาตรา 7 ก็ต้องดูประกอบกับมาตรา 62 แม้มาตรา 7 จะดูเป็นเหมือนมาตราหลักที่ให้สิทธิ แต่เดิมให้สิทธิแสดงความคิดเห็น ให้สิทธิรณรงค์ แต่ สนช.ให้ตัดคำว่ารณรงค์ออกไป ใส่เป็นว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย ทีนี้มาหนักอยู่ที่มาตรา 62 โดยมาตรา 62 (1) นั้นระบุว่า ต้องไม่ก่อความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ และใน (1) ยังไปขยายความในวรรคที่ 2 ของมาตรา 62 ว่า ความวุ่นวายนั้นหมายความว่า แสดงความคิดเห็นที่เป็นการบิดเบือน ไม่ตรงข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะผ่านการพูด การสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กและอื่นๆ อาจเอาไปตีความว่าเป็นการบิดเบือน ไม่ตรงข้อเท็จจริง ก็ถือว่าเป็นการสร้างความวุ่นวาย มีโทษทั้งจำและปรับ

ฉะนั้น ตรงนี้แม้จะให้สิทธิในมาตรา 7 แต่ความคิดเห็นกลับไปถูกล็อกโดยมาตรา 62 ว่าถ้าไปแสดงความคิดเห็นที่เขาตีความว่าบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือไปมโนเอาเอง ยกตัวเองเช่น ถ้าไปบอกว่า ในที่สุดแล้วจะได้นายกรัฐมนตรีคนนี้ เขาก็จะบอกว่าคิดเองนี่ เพราะนายกฯให้แต่ละพรรคเสนอชื่อมา ยกเว้นไม่สามารถหาเอาจากที่พรรคเสนอมาได้ เป็นต้น ในที่สุดก็จะมีโทษตามมาตรา 62 ซึ่งสิ่งเหล่านี้ละเอียดอ่อน พรรคการเมืองจะให้สัมภาษณ์ หรือส่งข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียก็ต้องระวัง

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช

รักษาการ ผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

กรณีตัดคำว่า “รณรงค์” แล้วใส่คำว่า “เผยแพร่ความคิดเห็น” ถ้าผมจะเสนอข้อคิดเห็นด้านลบต้องเสนอผ่านสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ เทียบเท่ากับการรณรงค์ไหม แล้วถ้าเห็นด้วย เสนอข้อดีผ่านสื่อ ก็เสมือนการรณรงค์อย่างหนึ่ง

ประชามติเป็นเรื่องการเปิดกว้าง เป็นเรื่องความไว้ใจประชาชน การรณรงค์ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอะไร ถ้าเราไว้ใจประชาชน เว้นแต่ว่าไม่ไว้ใจประชาชน ก็อาจเกรงกลัวการรณรงค์

เคยเสนอว่าให้เอารัฐธรรมนูญที่เคยใช้งานได้พอประมาณ อย่างน้อย 2 ฉบับที่ผ่านมา คือรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 กระบวนการในการร่างที่มีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 ถึงแม้จะร่างโดยสภานิติบัญญัติในยุครัฐประหารก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ผ่านการทำประชามติมาแล้ว

เคยเสนอว่า ถ้ามีคำถามที่สองให้หยิบสองร่างนี้มาแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความเป็นปัจจุบัน แล้วนำมาใช้ระยะสั้นๆ ซึ่งเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน เช่นหยิบรัฐธรรมนูญ 2540 มาแก้ไขแล้วประกาศใช้ พอมีการเลือกตั้งก็อาจแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราให้มีโอกาสตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเต็มที่ เมื่อร่างเสร็จแล้วก็เลือกตั้งครั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจริงๆ

ไม่ใช่ถามว่าให้ ส.ว.เลือกนายกฯได้ไหม ยิ่งมัดมือชกกันไปใหญ่ ไม่ใช่ทางออก เพราะคำถามข้อที่สองควรเป็นทางออก ถ้าถามแบบนี้เท่ากับว่าเป็นทางตัน เหมือนมีทางเลือกคือคุณต้องผ่าน เท่ากับว่าคนตั้งคำถามได้ตอบให้แล้ว

ในทางตรรกะ วิธีการตั้งคำถามแบบนี้ไม่ใช่วิธีการตั้งคำถามเพื่อให้มีทางออกในสังคมได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image