บทบาท การเมือง : ‘ประชาธิปัตย์’ คลี่คลาย : กับ ‘อนาคตใหม่’

สภาพการณ์ทางการเมืองของสังคมไทยในขณะนี้ดำรงอยู่ในลักษณะอันเรียกได้โดยสรุปว่า “ยังไม่มีสงคราม แต่ก็ไม่มีสันติภาพ”

นั่นก็คือ ยัง “ยื้อ” กันอยู่

เหมือนกับจะเป็นการยื้อระหว่าง คสช.กับพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นด้านหลัก แต่ในความเป็นจริงขยายกรอบและขอบเขตออกไปมากยิ่งกว่านั้น

เนื่องจาก คสช.มิได้เข้ามาอย่าง “ชั่วคราว”

Advertisement

พลันที่ คสช.ต้องการ “อำนาจ” และสำแดงออกอย่างเด่นชัดว่า ต้องการ “สืบทอด” อำนาจออกไปอีกมากกว่า 4 ปี

ทำท่าว่าอาจจะอยู่ถึง 20 ปีตาม “ยุทธศาสตร์”

คู่สัประยุทธ์ของ คสช.ย่อมมิใช่พรรคเพื่อไทยอย่างที่เข้าใจกัน หากแต่หมายรวมถึงกลุ่มการเมืองอื่นโดยอัตโนมัติ

Advertisement

แม้ว่ากลุ่มการเมืองนั้นจะมิใช่พวกเดียวกับพรรคเพื่อไทยก็ตาม

ปัจจัยทางการเมืองอย่างนี้แหละ คือ สิ่งที่เรียกกันว่าเป็น “ตัวแปร” และจะค่อยๆ ปรากฏให้เห็นตลอด 2 รายทาง

ถามว่า คสช.ต้องการหรือไม่

ตอบได้เลยว่า นี่คือปัจจัยที่ คสช.ไม่อยากให้เกิดขึ้น นั่นก็คือ ต้องการกำจัดเป้าหมายเพียงเฉพาะพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

เพื่อง่ายต่อการบดขยี้ให้แหลกละเอียด

ด้านหนึ่ง กระบวนท่าของ คสช.คือ พยายามสร้างพันธมิตรในแนวร่วมขึ้น อย่างที่เห็นผ่านพรรคพลังประชารัฐ ผ่านพรรครวมพลังประชาชาติไทย ผ่านพรรคประชาชนปฏิรูป

หรือแม้กระทั่งต่อพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา

ขณะเดียวกัน ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวก็มีท่าทีที่ห่างออกมาของพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้จะไม่เป็นพวกเดียวกับพรรคเพื่อไทยอย่างแนบแน่น

แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

ยิ่งกว่านั้น ยังบังเกิดพรรคการเมืองอย่างพรรคอนาคตใหม่ที่แม้จะมีหลายอย่างใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทย แต่ก็มีแนวทางอันเป็นของตนอย่างแจ่มชัด

เรียกร้องในประเด็นที่แหลมกว่าพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ

พื้นฐานอย่างที่สุดก็คือ ย้อนกลับไปศึกษาบทเรียนและความล้มเหลวของ “คณะราษฎร” ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2490

พร้อมกับประกาศจะ “สืบทอด” เจตนารมณ์

ถามว่า คสช.ต้องการให้มีพรรค

การเมืองในแบบ “พรรคอนาคตใหม่” เกิดขึ้นหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ต้องการ

เพราะลำพัง “พรรคเพื่อไทย” ก็เหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่งอยู่แล้ว

ไม่ว่าจะประกาศ ไม่ว่าจะไม่ประกาศ แต่การดำรงอยู่ของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างพรรคอนาคตใหม่ก็กลายเป็นพันธมิตรในแนวร่วมของพรรคเพื่อไทยไปโดยอัตโนมัติ

กลายเป็นจระเข้ขวางคลองต่อ “คสช.”

เห็นหรือยังว่า หากนับจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เรื่อยมากระทั่งเดือนพฤษภาคม 2561 สภาพในทางการเมืองมิได้เป็นไปอย่างที่ คสช.กำหนดเอาไว้

บางส่วนอาจเป็นไปตาม “พิมพ์เขียว”

ขณะที่หลายส่วนอย่างกรณีของ พรรคประชาธิปัตย์ กรณีของ พรรคอนาคตใหม่ มิได้เป็นสภาพที่คาดหมายเอาไว้

นี่คือ “เป้า” ใหม่ ศัตรูใหม่ นอกเหนือจาก “เพื่อไทย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image