สถานีคิดเลขที่12 : อวสาน‘วัฒนธรรมวิดีโอ’ : โดย ปราปต์ บุนปาน

ข่าวคราวการเลิกกิจการของร้านเช่าวิดีโอ-วีซีดี-ดีวีดี “เฟม วิดีโอ ท่าพระจันทร์” คงจะเป็นปรากฏการณ์ท้ายๆ ซึ่งบ่งชี้ถึงการปิดฉากอำลา “วัฒนธรรมวิดีโอ” ในบ้านเรา

อาจจะแตกต่างจากร้านเช่าวิดีโอจำนวนมากที่ล้มหายตายจากกันไปเกือบหมดแล้ว ร้าน “เฟม วิดีโอ” สร้างชื่อในหมู่นักดูหนัง ด้วยการสรรหาภาพยนตร์นอกกระแส-หาดูยาก มาคอยให้บริการลูกค้า

จากยุคม้วนวิดีโอจนถึงยุคแผ่นวีซีดีและดีวีดี

ชื่อเสียงของร้าน “เฟม” เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์โดดเด่นของวัฒนธรรม “ไพเรท” ช่วงทศวรรษ 2530-40 ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ยังมีช่องว่างค่อนข้างเยอะ (ขณะเดียวกัน ทางเลือกในการบริโภคงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของสังคมไทยก็มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย)

Advertisement

หากจะอธิบายหรือสรุปรวบยอดการเลิกกิจการของร้าน “เฟม” ด้วยคำสั้นๆ ว่า “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” เราก็คงไม่เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นมากนัก

หรือถ้าจะเปรียบเทียบโมเดลธุรกิจของร้าน “เฟม” กับเอกชนเจ้าอื่นๆ ที่มีจุดเริ่มต้นคล้ายกัน อาทิ “เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย” ที่ขยายกิจการร้านเช่าวิดีโอมาสู่การเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวางจากการกว้านซื้อ-บริหารจัดการลิขสิทธิ์ซีรีส์อินเดีย ที่สร้างเรตติ้งและรายได้มหาศาล

ก็ดูเหมือนว่าเงื่อนไข วัตถุประสงค์ และสายป่าน ของ “เฟม” กับ “เจเคเอ็น” จะไม่เหมือนกัน

Advertisement

จุดน่าสนใจในกรณีของ “เฟม” จึงอยู่ที่ “ความเปลี่ยนแปลงระดับลึก” ซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้ “ความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปแบบ” (จากอนาล็อกสู่ดิจิทัล)

การหมดความนิยมของ “สื่อเก่า” อย่างม้วนวิดีโอและแผ่นดีวีดี ที่บังเกิดขึ้นสอดคล้องกับขาขึ้นของบริการสตรีมมิ่ง และการคลิกดูคลิปต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต มิได้หมายความว่า “วัฒนธรรมภาพเคลื่อนไหว” แบบเดิมๆ จะยังดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง และมีแค่สื่อกลาง รูปแบบ หรือแพลตฟอร์มเท่านั้น ที่แปรผันไป

เพราะอีกทางหนึ่ง รูปแบบที่เปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบถึง “เนื้อหาสาระ” ตลอดจน “วิธีการนำเสนอ” ซึ่งเป็นแก่นแกนใจกลางของ “วัฒนธรรมภาพเคลื่อนไหว”

เราไม่สามารถทึกทักได้ว่าเนื้อหาของซีรีส์/หนัง “เน็ตฟลิกซ์” ที่ผู้บริโภคนั่งนอนชมอยู่ในบ้านนั้น คือ “มหรสพความบันเทิง” ประเภทเดียวกันกับหนังที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ก่อนจะถูกแปรสภาพเป็นวิดีโอ/ดีวีดี

หลายคนเริ่มเชื่อว่า “เนื้อหาสาระ” และ “กลวิธีการนำเสนอ” ของ “สื่อบันเทิง” สองประเภทนี้ มีความแตกต่างกันอย่างลึกซึ้ง

อะไรที่เคย “เวิร์ก” ในโรงหนัง/วิดีโอ/ดีวีดี อาจจะ “ไม่เวิร์ก” ในบริการสตรีมมิ่งก็เป็นได้

ผู้กำกับภาพยนตร์อาวุโสระดับโลกรายหนึ่งเปรียบเปรยเอาไว้ว่าการทำซีรีส์ป้อนเน็ตฟลิกซ์เหมือนการเขียนนวนิยายขนาดยาวหลายตอนจบ ผิดกับการทำหนังป้อนโรงภาพยนตร์ ซึ่งคล้ายการเขียนเรื่องสั้นเรื่องเดียว

คนทำหนังรายเดียวกันยังบอกเป็นนัยว่ากระทั่ง “ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์” และ “ซีรีส์โทรทัศน์” ยุคเก่านั้น ก็ไม่ใช่ “วัฒนธรรมบันเทิง” อย่างเดียวกัน

(ผู้ชมยุคปัจจุบันคงพอจับทางได้ว่า “ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์” ที่ประสบความสำเร็จ คือ ซีรีส์ที่เราสามารถนั่งดูรวดเดียวต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ชนิดข้ามวันข้ามคืน ซึ่งนี่ไม่ใช่จุดประสงค์หลักของ “ซีรีส์โทรทัศน์”)

หากมองในภาพกว้างกว่านั้น “หนัง/ภาพยนตร์” ที่พวกเรารู้จัก กับ “คลิปออนไลน์” ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของผู้คนสมัยนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งมิใช่ “ภาพเคลื่อนไหว” ชนิดเดียวกัน

เมื่อเทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือ สถานที่รับชมเปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงตาม ส่งผลให้จังหวะการเล่าเรื่อง ความช้า ความเร็ว ระยะเวลาที่เหมาะสมกับการรับชม “ภาพเคลื่อนไหว” ไม่มีทางเหมือนเดิม

เช่นเดียวกับ “เนื้อหาสาระ” ของ “วัฒนธรรมภาพเคลื่อนไหว”

ท่ามกลางยุคสมัย บริบทแวดล้อม การดำเนินชีวิต และวิธีคิดของผู้คนที่แปรผัน

รูปแบบและเนื้อหาสาระชนิดเดิมๆ ที่ปรับตัวไม่ทัน ย่อมอยู่รอดได้ยาก

นี่ไม่ใช่ “ความจริง” ของ “วัฒนธรรมภาพเคลื่อนไหว” และ “ธุรกิจสื่อ” เท่านั้น

แต่ยังรวมถึงองค์กรทางสังคม-การเมืองจำนวนมากด้วย

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image