รายงาน : ภาวะ บิดเบี้ยว ประกาศ คำสั่ง คสช. กับ มือกฎหมาย

ไม่ว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เป็นประธาน กรธ. ไม่ว่า นายวิษณุ เครืองาม ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ไม่ว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ถือว่าเป็น “มือกฎหมาย” ระดับเอกอุ

3 ท่านมีบทบาทอย่างสำคัญต่อกฎหมายอันออกมาในยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ไม่ว่า “ประกาศ” ไม่ว่า “คำสั่ง”

Advertisement

ม่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557” ไม่ว่า “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” อันเป็นสดมภ์ในการประกันอำนาจทางการเมืองให้ คสช.

แต่เมื่ออ่าน “รัฐธรรมนูญ” แต่เมื่ออ่าน “ประกาศ” และ “คำสั่ง” ของ คสช.อันเกี่ยวกับ “การเลือกตั้ง” หลายคนก็สงสัย ไม่แน่ใจว่าเป็นการออกมาด้วยความเข้าใจต่อ “การเลือกตั้ง” อย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะเป็นไปในเชิง “ติดล็อก” มากกว่า

มือกฎหมายทั้ง 3 ลึกซึ้งกับ “การเลือกตั้ง” มากน้อยเพียงใด

Advertisement

หากดูจาก “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534” อันเป็นความต้องการของคณะรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ประสานเข้ากับ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” อันเป็นความต้องการของคณะรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เด่นชัดว่าสะท้อนความเข้าใจต่อ “การเลือกตั้ง”

หากแต่เป้าหมายมิได้เพื่อส่งผลให้เกิดพัฒนาการ “ประชาธิปไตย” อย่างแท้จริง แต่เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจของคณะรัฐประหารมากกว่า

ความจัดเจนทางกฎหมาย จึงเป็นความจัดเจนที่ดำเนินไป 2 ด้าน

1 เป็นความจัดเจนในการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เป็นความจัดเจนในการทำให้พรรคใหญ่กลายเป็นพรรคเล็ก

1 เป็นความจัดเจนในการรักษาประโยชน์ของ “ผู้มีอำนาจ”

การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นเช่นนี้ การเกิดขึ้นของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 13/2561 เป็นเช่นนี้

ความจัดเจนในทางการเมืองของนักกฎหมายทั้ง 3 จึงเป็นความจัดเจนทางด้านของผู้มีอำนาจ มิได้เป็นความจัดเจนของทางด้านประชาชน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เข้ามาเกี่ยวกับรัฐประหารตั้งแต่เดือนตุลาคม 2520

นายวิษณุ เครืองาม เคยทำงานในทีม “สนทนาประชาธิปไตย” มีความใกล้ชิดอย่างยิ่งกับกลุ่มของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เข้ามาในยุคของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ท่านเหล่านี้เรียนรู้การเมืองจากทางด้านของผู้ปกครอง จากทางด้านของผู้มีอำนาจ แต่ไม่มีประสบการณ์ “ตรง” ในเรื่องพรรคการเมือง

ที่สำคัญไม่เคยเป็น “นักการเมือง” ที่ผ่าน “การเลือกตั้ง”

ท่านรู้เรื่องทางการเมืองในแบบของผู้มีอำนาจ ท่านรู้เรื่องทางการเมืองจากประสบการณ์ “อ้อม” มิได้เป็นผู้เล่นอย่างแท้จริง มีความรู้จากการศึกษา จากการร่วม แต่มิได้เป็นผู้ลงมือ “ทำ”

นี่ย่อมเป็นสภาพอย่างเดียวกันกับบรรดา “นักรัฐประหาร” ทั้งหลายนั่นเอง

การเข้าไปมีส่วนในกฎหมาย ไม่ว่าประกาศ คำสั่งของคณะรัฐประหาร ไม่ว่าโดยการร่างรัฐธรรมนูญ จึงมาจากความคิดในเชิง “โรแมนติก”

นั่นก็คือ เปี่ยมด้วยความปรารถนาดี

แต่ความปรารถนาดีนั้นๆ ก็มิได้ยืนอยู่บนฐานแห่งความเป็นจริงอย่างชนิดที่เรียกว่า “จริงแท้” ทั้งยังเป็นความจริงอัน “สร้างขึ้น” เพื่อเป้าหมายของการยึดครองและสืบทอดอำนาจ

อาการบิดเบี้ยวในทางการเมืองจึงมีจุดเริ่มต้นมาจากสภาพที่ดำรงอยู่เช่นนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image