นักวิชาการมอง ‘ประเทศกูมี’ ไม่ผิดหลักกม. แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายอาจตีความว่าผิด

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ม.เกษมบัณฑิต กล่าวถึงเพลง “ประเทศกูมี” ของกลุ่ม Rap Against Dictatorship หรือ RAD ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคม ว่า การวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเพลงแร็พเป็นเรื่องปกติ แต่ภาครัฐอาจมองว่าเป็นภัยคุกคาม สำหรับตนเพลงนี้มีวัตถุประสงค์คือการวิพากษ์วิจารณ์ ตามหลักสากลเรียกว่า Satire หรือ Parody แปลว่า การล้อเลียนเสียดสี ซึ่งเป็นหลักสากลว่าเป็นเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็น โดยอาจจะแสดงออกในสื่อต่างๆ เช่นในรูปแบบของ คำพูด บทความ วรรณกรรม งานเขียน ฯลฯ ปัจจุบันก็เป็นสื่อมัลติมีเดียในรูปแบบของเพลง ภาพยนตร์

“การเสียดสีหรือล้อเลียนผมมองว่าเป็นการกระทำเพื่อประเด็นสาธารณะ ซึ่งแบ่งเป็น 1.การล้อเลียนเสียดสีบุคคลโดยเจาะจง 2.การล้อเลียนเสียดสีโดยประเด็นสาธารณะ เพลงนี้เป็นการล้อเลียนเสียดสีหลายอย่าง มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สาธารณสุข การรักษาพยาบาล รัฐบาล การบริหารงานของรัฐบาล การทุจริตคอร์รัปชั่น กระบวนการยุติธรรม เช่น มองคนผิดบางคนไม่ได้รับการจับกุมในบางคดี บางครั้งก็รอดคดี เป็นต้น เหล่านี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยรวม เป็นประเด็นสาธารณะคือประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ เหมือนการตรวจสอบว่าภาครัฐทำประเด็นนี้โปร่งใสหรือไม่ คดีนี้ทำไมไม่คืบหน้า เลือกปฏิบัติหรือเปล่า แล้วสิทธิตรงนี้ทำไมประชาชนไม่ได้เหมือนกัน เป็นเสียงสะท้อนของประชาชนที่ล้อเลียนเสียดสีประเด็นสาธารณะไม่ได้มุ่งไปที่คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นประเด็นทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การทำงานของภาครัฐ ภาคเอกชน การเมือง และอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคม”

รศ.คณาธิป กล่าวอีกว่าโดยหลักสากลของประเทศเสรีประชาธิปไตยมองว่าเป็นการเสียดสีล้อเลียน แต่ว่าต้องมีขอบเขต มีความสมดุลระหว่างการกระทบสิทธิผู้อื่น หากจะมองว่าผิดกฎหมายหรือไม่ต้องแบ่งเนื้อหาของเพลงออกเป็นกลุ่ม คือ

1.การวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย กระบวนการ แผนงาน หรือการดำเนินการ เช่น วิจารณ์ว่าโครงการนี้ไม่เท่าเทียมกัน วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับบุคคล ไม่ใช่การหมิ่นประมาทและไม่ได้ทำให้ใครเสียชื่อเสียง เพราะถ้าหมิ่นประมาทจะต้องเจาะจงตัวบุคคลหรือระบุตัวผู้เสียหายได้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็ไม่มีหมิ่นประมาทอยู่แล้ว และผมมองว่าไม่ถึงกับขนาดว่าเป็นข้อความอันเป็นเท็จ เนื่องจากไม่ได้ยืนยันชัดเจนว่าคดีนี้ เลขที่นั้น เนื้อเพลงไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นใคร ประเด็นนี้จึงไม่ใช่การหมิ่นประมาท ไม่ใช่ข้อมูลเท็จ เพราะพูดกว้างๆ เนื้อหากลุ่มนี้ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ และไม่ผิดประมวลกฎหมายอาญา

Advertisement

2.การวิพากษ์วิจารณ์บุคคล แบ่งออกเป็น บุคคลกว้างๆ และ บุคลที่เจาะจง โดยบุคคลกว้างๆ จะเป็นตำแหน่ง เช่น รัฐบาล รัฐมนตรี ฯลฯ ตามหลักของศาลหมิ่นประมาทแล้ว ถ้าหากระบุชื่อก็ชัดว่าหมิ่นประมาท แต่ถ้าไม่ระบุชื่อให้ดูว่าคนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจหรือไม่ ผมมองว่าในเพลงมีทั้ง 2 ส่วน ถามว่าเนื้อหาอย่างนี้จะผิดไหม โดยหลักแล้วเป็นหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาได้ในบางข้อความ แต่ไม่เป็น พ.ร.บ.คอมพ์ และถ้าคนที่หมิ่นประมาทเป็นบุคคลสาธารณะ มีข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา หากวิพากษ์วิจารณ์ ติชม ด้วยความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็สอดคล้องกับอเมริกาว่า บุคคลสาธารณะ เช่น นักการเมือง ข้าราชการ นักแสดง นักร้อง บุคคลเหล่านี้เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์จะต้องยอมรับ คือจะต้องมีความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าคนทั่วไป

“การวิพากษ์วิจารณ์ในต่างประเทศเกิดขึ้นตลอด ลักษณะแบบนี้เป็นสิ่งที่บุคคลอัดอั้นตันใจ และถ่ายทอดออกมาในรูปแบบต่างๆ ในทางกฎหมายผมจึงมองว่าไม่ผิดทั้งการหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นกว้าง ซึ่งสามารถไปดึงกฎหมายอาญามาได้ คือมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งโยงกับคำสั่ง คสช. ที่ห้ามก่อความวุ่นวายหรือทำให้เกิดความไม่สงบ เหล่านี้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาโดยสภาพเพราะค่อนข้างกว้างว่าอะไรคือยุยงปลุกปั่น ทั้งที่เจตนาบังคับใช้สำหรับกรณี เช่นการระดมคนมาโค่นล้มรัฐบาล ทำลายสถานที่ราชการ แต่นี่เป็นแค่ถ้อยคำที่โต้แย้งคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

“ถ้าดูในแนวของคดี ภาครัฐมักจะเอามาตรา 116 ประกอบกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 14 (2) และ (3) และประกาศคำสั่ง คสช. คือยุยงปลุกปั่น เป็นข้อมูลเท็จที่น่าจะกระทบต่อความสงบ ทำให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งกฎหมายกลุ่มนี้กว้างมาก มีปัญหาตั้งแต่ระดับกฎหมาย เช่นที่มีคนลงชื่อคัดค้าน พ.ร.บ.คอมพ์ 3-4 แสนคน เพราะกฎหมายอาจครอบคลุมพฤติกรรมเช่นนี้ด้วย แต่หากมองเปรียบเทียบกับหลักกฎหมายสากลแล้ว ผมมองว่าเพลงเสียดสีเช่นนี้ยังไม่ถึงกับเป็นการยุยงปลุกปั่นหรือกระทบกับความมั่นคง

Advertisement

“อีกประเด็น ที่ภาครัฐมักใช้ พ.ร.บ.คอมพ์แล้วบอกว่าเป็นข้อมูลเท็จ น่าจะทำให้คนตื่นตระหนก ผมเป็นคนที่คัดค้านคำนี้มาตลอด เพราะคำว่าตื่นตระหนกใน พ.ร.บ. 14 (2) และ (3) ควรจะเป็นการตื่นตระหนกจากภัยคุกคามจริง เช่น ขู่จะก่อระเบิด ขู่จะก่อการร้าย ทำลายรถไฟฟ้า เป็นลักษณะที่ทำให้คนตื่นเต้น วิ่งพากันกักตุนอาหาร หนีตายลงรถไฟฟ้า ซึ่งน่าตื่นตระหนก แต่รัฐบาลจะมีแนวทางคดีว่า ถ้าคนเอาข้อมูลทุจริตของรัฐบาลมาตั้งแนวทางสงสัย รัฐมักจะบอกว่าเป็นข้อมูลเท็จ น่าจะทำให้คนตื่นตระหนก ผมมองว่าไม่ควรตีความแบบนี้ จริงหรือเท็จก็ควรตรวจสอบกันต่อไป และเพลงนี้ตามแนวทางการดำเนินคดีอาจจะถูกภาครัฐมองว่ากระทบต่อความมั่นคง แต่ในความเห็นผม ข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์นโยบายไม่ได้กระทบต่อชื่อเสียง เพลงนี้ไม่ได้ระบุชื่อบุคคล และไม่ได้ถึงขนาดยุยงปลุกปั่น ไม่ส่งผลกระทบทางกายภาพ แค่ให้เกิดการล้อเลียนเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์ เหน็บแนม มากกว่า

“การตีความกฎหมายที่บกพร่องดังที่กล่าวมา มักมีการตีความ 2 แนวทาง ผู้บังคับใช้กฎหมายมักตีความในแนวทางข้างต้น แต่ในทางวิชาการมองว่าไม่กระทบกับความสงบและความมั่นคง เพียงแต่ตอกย้ำให้เห็น ผมมองว่าเป็นวรรณกรรมเดิมที่รูปแบบเปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนที่มีการเขียนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็นกลอน 4 สุภาพ ปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเป็นเพลงแร็พแทน แต่ว่าสาระเหมือนกันคือคนวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐและประเด็นสาธารณะต่างๆ ในฐานะประชาชนทั่วไป ส่วนตัวมองว่าไม่ควรดำเนินคดี แต่เจ้าหน้าที่อาจจะมีแนวโน้มดังที่กล่าวมา”

อ่านเพิ่มเติม

แร็พ ‘ประเทศกูมี’ หมิ่นเหม่ ‘ศรีวราห์’ ฟังแล้วสุ่มเสี่ยง เชิญให้ปากคำ ส่อขัดคสช.

รัฐบาลเสียใจ เยาวชนทำเพลง ‘ประเทศกูมี’ ชี้ ทำร้ายปท.-ถาม มีใครบงการหรือไม่?

ฉุดไม่อยู่! #ประเทศกูมี ยอดวิวพุ่งล้าน 5 แสนครั้ง อันดับ 1 ทวิต RAD ปลุกกระแสชวนแรพ

วงแตก! “บิ๊กตู่” เจอนักข่าวถาม ปมแรพ “ประเทศกูมี” ส่ายหน้า -เดินหนีทันที 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image