09.00 INDEX ปัจจัย ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ สำคัญต่อคสช. สำคัญต่อเพื่อไทย

แฟ้มภาพ

ในที่สุด “ประชามติ” ก็ค่อยๆ แปรเป็น “สมรภูมิ” อันดุเดือดและแหลมคมในทางการเมือง
เหมือนกับเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่าย

ฝ่าย 1 เป็น “คสช.” ในฐานะที่เป็น “รัฐบาล” และฝ่าย 1 เป็น “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะที่เป็น “ฝ่ายค้าน”

หากเป็นสังคมการเมือง “ปกติ” ก็มิได้เป็นเรื่องแปลก
เพราะเมื่อมีฝ่ายอันเป็น “รัฐบาล” ก็ย่อมจะต้องมี “ฝ่ายค้าน” คอยท้วงติงและช่วงชิง
แต่นี่เป็นการเมืองที่ “อ-ปกติ”
การเผชิญหน้าระหว่าง “รัฐบาล” กับ “ฝ่ายค้าน” จึงดำเนินไปอย่าง “อ-ปกติ”
มากด้วยความแหลมคมเป็นพิเศษ

ไม่ว่าจะมองผ่านกระบวนการ “ปฏิบัติ” ของฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่า จะมองผ่านกระบวนการ “ตอบโต้” ของฝ่ายค้าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่โหมดแห่ง “ประชามติ”

Advertisement

จากสถานะแห่งความเป็นรัฐบาล จากสถานะแห่งความเป็นผู้ดำเนินการกระทั่งผ่าน “ร่างรัฐธรรมนูญ” ออกมา
กระบวนการ “ประชามติ” จึงสำคัญ

เนื่องจาก “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” มาจากการแต่งตั้งโดย “คสช.”
อยู่ในฐานะเป็น 1 ใน “แม่น้ำ 5 สาย”
“ร่างรัฐธรรมนูญ”ฉบับนี้จึงเป็น “เดิมพัน” อันสำคัญและทรง ความหมายยิ่งในทาง “การเมือง”

หาก “ผ่าน” และได้รับ “การยอมรับ” ก็ถือว่า “สำเร็จ”
หาก “ไม่ผ่าน” และไม่ได้รับการยอมรับ ก็ถือว่าไม่สำเร็จและถือว่าเป็น “ความพ่ายแพ้”
พ่ายแพ้ต่อ “พรรคเพื่อไทย”

Advertisement

การเผชิญหน้าระหว่าง “รัฐบาล” กับ “พรรคเพื่อไทย” จึงมีผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลว
1 ร่างรัฐธรรมนูญ และ 1 ประชามติ

ทุกปฏิบัติการของรัฐบาลจึงมีลักษณะ “รวมศูนย์” ไปในทางตัดกำลังและการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกัน การต่อสู้ของพรรคเพื่อไทยก็สำคัญ

ไม่เพียงแต่พรรคเพื่อไทยจะพยายามในการสร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการคัดค้าน ต่อต้าน ร่างรัฐธรรมนูญ หากแต่ยังต้องทำให้ผลของประชามติไปในทิศทางที่ต้องการ
นั่นก็คือ ให้เป็นเสียง “ไม่ยอมรับ” มากกว่า “ยอมรับ”

เพราะผลไม่ยอมรับนี้มิได้เท่ากับไม่ยอมรับต่อร่างรัฐธรรมนูญอันดำเนินการโดย “คสช.”
หากแต่ยังเท่ากับเป็น “ปฏิกิริยา” ต่อการรัฐประหาร

หมายถึงการขยายผล “ประชามติ” ไปยังการคัดค้านและต่อต้านต่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image