‘ภูมิใจไทย’ ปลุก ถึงเวลาลดอำนาจรัฐ ‘อนค.’ชี้ ต้องจัดการโครงสร้างทุนใหญ่ ที่กดทับสังคม

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 6 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ RSU Wisdom TV มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ สำนักข่าวประชาไท สถานีวิทยุ FM 101 และกลุ่มนักศึกษาวิชา ECO499 สัมมนาเศรษศาสตร์ และนโยบายสาธารณะ จัดงานเสวนา “การปฏิรูปและนโยบายเศรษฐกิจ ภายใต้การเลือกตั้ง”โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมเสวนา อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.), นายสมพงษ์ สระกวี ที่ปรึกษาพรรคเสรีรวมไทย, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคภูมิใจไทย(ภท.), นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง พรรคเพื่อไทย (พท.) และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

โดย นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น เมื่อดูโพลจะพบว่า ประชาชนต้องการให้ 1.แก้ไขปัญหา หนี้สินของเกษตรกร 2.พัฒนาเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว 3.พูดจริงทำจริง พัฒนาจังหวัดท้องถิ่น และ 4.พัฒนาระบบขนส่งมวลชน การศึกษา พลังงานและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดเป็นปัญหาที่คู่ประเทศไทยมาตลอด เราพยายามแก้ แต่ไม่สำเร็จ วิธีการบริหารของภาครัฐที่ผ่านมาเน้นความคุ้มค่ามากกว่าให้โอกาส คนต่างจังหวัดถามตัวเองหลายครั้งว่าทำไมเราไม่มีถนนสี่เลน ซึ่งรัฐเลือกจะไปสร้างที่เมืองใหญ่ก่อน เนื่องจากมีรถเยอะกว่า รัฐบาลพยายามแก้หลายอย่างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน แต่สุดท้ายยังไม่เคยเห็นคนรวยคนไหนเดือดร้อนเพราะภาษีเหล่านี้ แต่คนที่รับภาระคือคนชั้นกลางและคนชั้นล่าง นอกจากนี้ การกระจายอำนาจในอดีตไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง นี่คือปัญหาที่ภูมิใจไทยมองเห็น และเป็นที่มาของความต้องการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เราต้องให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ ภาวะจนกระจุกรวยกระจายก็จะดีขึ้น และรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเศรษฐกิจ การที่เราจะเห็นเศรษฐกิจที่ดีได้การส่งออกยังเป็นเป้าหมายสำคัญ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ต้องมีกลไกที่แข็งแรง กลไกของความไม่เป็นประชาธิปไตยให้ร้ายทุกประเด็นที่กล่าวมา ทั้งการส่งออก ประเทศคู่ค้าหยุดชะงัก การบูรณาการ หนีไม่พ้นการทำงานด้านเศรษฐกิจ หากภาครัฐออกกฎระเบียบและกฎหมายมากมายเราต้องลดทอนลง มิเช่นนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจก็จะดำเนินการได้ยาก เพราะติดขั้นตอนต่างๆของกฎหมาย ในขณะที่ภาคธุรกิจที่เขาทำงานอย่างไม่สนใจกฎหมายเขาก็ทำต่อไปโดยที่ไม่สนใจกฎระเบียบ ภาครัฐต้องจัดงบประมาณตัวเองให้เหมาะสมเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

นายธนาธร กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ทุกพรรคจะเสนอเรื่องที่ก้าวหน้า และค่อนข้างมองปัญหาและทางออกไปในทางเดียวกัน ปัญหาของไทยคือยิ่งโตยิ่งเหลื่อมล้ำ ถูกประเทศเพื่อนบ้านทิ้งห่าง กลุ่มทุนรายใหญ่ได้รับประโยชน์จากโครงการของรัฐ ทรัพยากรกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งเราจะไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เลย หากไม่พูดถึงและจัดการโครงสร้างบางอย่างที่กดทับสังคมอยู่ โครงสร้างดังกล่าวทำให้คนกลุ่มชนชั้นนำมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเหนือคนกลุ่มอื่น ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ทศวรรษ 2500 เป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า 2.ทศวรรษ 2520 เป็นการผลิตเพื่อส่งออก และ 3.ทศวรรษ 2540 ใช้ Dual-track คืออาศัยการส่งออกควบคู่การส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ ขณะนี้ทุกคนกำลังมองหาคลื่นลูกที่ 4 ในการผลักดันให้ประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งทุกวันนี้ตนยังเห็นว่ามีใครที่เสนอเรื่องนี้อย่างชัดเจน

Advertisement

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

https://www.matichon.co.th/politics/news_1260899

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image