ปลดล็อกการเมือง‘ซ่อนกล’ เดินเกมพลาดแพ้ทั้งกระดาน

ปลดล็อกให้บรรดาอดีต ส.ส. สมาชิกพรรคการเมือง และประชาชนได้ขยับทำกิจกรรมทางการเมืองได้ทันที ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2561 เรื่อง “การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง” ให้สอดรับกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา

ภาพรวมการปลดล็อกให้นักการเมืองได้ทำกิจกรรม ตาม คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ทั้ง 9 คำสั่ง แบ่งเป็น คำสั่ง คสช. 3 คำสั่ง ได้แก่ คำสั่ง คสช.ที่ 10/2557 คำสั่ง คสช.ที่ 26/2557 เรื่องห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือทรัพย์สินของบุคคล คำสั่ง คสช.ที่ 80/2557 เรื่อง ให้บุคคลปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

ประกาศ คสช. 3 ฉบับ ได้แก่ ประกาศ คสช.ที่ 39/2557 เรื่อง กำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวบุคคลที่มารายงานตัวต่อ คสช. ประกาศ คสช.ที่ 40/2557 เรื่อง กำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวบุคคลที่ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก พ.ศ.2547 มาตรา 15 ทวิ ประกาศ คสช.ที่ 57/2557 เรื่อง ให้ พ.ร.ป.บางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ในเฉพาะข้อ 2 คือการยกเลิกการห้าม ไม่ให้พรรคการเมืองจัดประชุม ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดรวมถึงการจัดตั้ง จดทะเบียนพรรค และระงับการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

คำสั่งหัวหน้า คสช. 3 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยยกเลิกเฉพาะข้อที่ 12 คือยกเลิกการห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองลงวันที่ 22 ธันวาคม 2560 เฉพาะในข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 7 คือการยกเลิกการห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ จัดตั้งสาขาพรรค ประชุมสมาชิกพรรค หรือพรรคการเมืองที่จะตั้งขั้นใหม่ การจัดประชุมก่อตั้งพรรคก็ต้องไม่ต้องขออนุญาต คสช.

Advertisement

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 กันยายน 2561 เฉพาะในข้อ 6 ก็คือการยกเลิกการห้ามพรรคการเมืองหาเสียง หรือประชาสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งภายในพรรค และสมาชิกพรรค

พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขในท้ายคำสั่งปลดล็อกทางการเมืองทั้ง 9 คำสั่งไว้ด้วยว่า “การยกเลิกประกาศและคำสั่งทั้ง 9 ฉบับ ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้”

เท่ากับว่าหากจะตีความตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ประกาศปลดล็อกทางการเมืองออกมานั้น แม้ในภาพรวมจะสื่อถึงการปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ให้บุคคลที่ถูกอายัดบัญชีธนาคาร สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ แต่ทางการเมืองถือว่า “การปลดล็อก” ยังซ่อนด้วยนัยยะทั้งทางการเมืองและกฎหมาย

Advertisement

เพราะคดีความที่เกิดจากทั้งคำสั่ง ประกาศ คสช. ก่อนที่จะมีการยกเลิกคำสั่งในบางเรื่อง บางข้อนั้น ยังคงเดินหน้าต่อ คดีความที่นักการเมือง นิสิต นักศึกษา รวมถึงภาคประชาชนที่เคลื่อนไหว แล้วถูกดำเนินคดีจากฝ่ายกฎหมายของ คสช. ยังต้องเดินหน้าต่อตามกระบวนการยุติธรรม

ยิ่งหากมาสแกนตัวคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ มีการยกเลิกเฉพาะข้อที่ 12 คือยกเลิกการห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในส่วนอื่นๆ ที่มีรวม 14 ข้อ ยังคงมีสภาพการบังคับใช้อยู่ อย่าง ข้อ 3 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย (ที่เป็นทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นไปซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคําสั่งนี้) ดําเนินการป้องกันและปราบปรามให้เกิดผลโดยเร็ว ทั้งความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 113 ถึงมาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่ง คสช. หรือคําสั่งหัวหน้า คสช. ยังคงทำได้ต่อ

ส่วนในข้อ 4 พนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ยังมีอำนาจออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือมาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามข้อ 3 จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวน

เพื่อดําเนินการต่อไป รวมทั้งเข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทําความผิดตามข้อ 3 หลบซ่อนอยู่ได้

ยังรวมถึงอำนาจในข้อ 5 ที่ระบุว่า ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้

แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการออกคําสั่งดังกล่าวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยจะกําหนดเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามคําสั่งด้วยก็ได้

ในโหมดการเมืองที่กำลังเข้าโค้งสุดท้ายสู่การเลือกตั้งในปี 2562 ที่นักการเมืองและหัวคะแนนที่ดูแลฐานเสียงให้แต่ละพรรคจะต้องเริ่มขยับเตรียมความพร้อมในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะเริ่มนับหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของพรรค ในวันที่พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้ ตามไทม์ไลน์ คือ วันที่ 2 มกราคม 2562

แต่การทำกิจกรรมทางการเมืองของทั้งอดีต ส.ส.และหัวคะแนนของแต่ละพรรค แม้จะมีการปลดล็อกให้ทำกิจกรรมได้

แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้การทำกิจกรรมต่างๆ ทางการเมืองสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในข้ออื่นๆ นอกเหนือจากข้อที่ 12 ที่ยังให้อำนาจหน้าที่พนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย แบบ “ฟูลพาวเวอร์” อยู่

หากผู้สมัคร ส.ส.คนใด หรือหัวคะแนนของพรรคใด ไปกระทำความผิดแล้วถูกดำเนินคดี จนคดีถึงที่สุด นอกจากอดีตผู้สมัคร ส.ส.คนนั้นๆ จะต้องขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.แล้ว หากความผิดดังกล่าวเชื่อมโยงมาถึงคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้กระทำความผิด ย่อมเป็นความเสี่ยงให้พรรคนั้นๆ ถูกยุบพรรคได้

ยิ่งในส่วนของพรรคใหญ่อย่าง พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่แกนนำพรรคทั้ง 3 คน คือ ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรค พท. และ วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถูกฝ่ายกฎหมายของ คสช.แจ้งความดำเนินคดีในกรณีตั้งโต๊ะแถลงข่าวครบรอบ 4 ปี คสช. ในข้อห้า 1.ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 57/2557 ข้อ 2 ได้แก่ ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดําเนินการประชุม หรือดําเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง 2.ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ในข้อ 12 ได้แก่ ผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ 3.ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการไลฟ์สดในเฟซบุ๊ก และ 4.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น

โดยคดีความของแกนนำพรรค พท. 3 คนยังเดินหน้าต่อ แม้ทั้งแกนนำพรรคทั้ง 3 คน จะไม่ใช่คณะกรรมการบริหารพรรค หากคดีถึงที่สุดอาจไม่ถึงขั้นให้ยุบพรรค แต่ในห้วงของกระบวนการต่อสู้ในชั้นศาล หากมีการพิสูจน์และพบว่ามีหลักฐานเชื่อมโยงถึงคณะกรรมการบริหารพรรคว่ามีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง พรรค พท.อาจแพ้น็อกโดนยุบพรรคได้

ไม่เพียงเฉพาะพรรค พท.เท่านั้นที่จะต้องเดินเกมการเมือง ชนิดที่ต้องระมัดระวังติดกับดักค่ายกล “การปลดล็อก” การเมืองของ คสช. พรรคอื่นๆ ที่อยู่ในสารบบที่จะลงสู้ศึกเลือกตั้ง 2562 หากเดินเกมการเมืองพลาด อาจแพ้ทั้งกระดานได้เหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image