09.00 INDEX คำถาม ถึงบทบาท “กอ.รมน.” สะเทือน กระทบ “4 รัฐมนตรี”

บทบาทของเจ้าหน้าที่ “กอ.รมน.” ที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามการ เคลื่อนไหวของ “นักการเมือง” ฝ่ายตรงข้าม อย่างที่พรรคเพื่อไทยประสบอยู่ในขณะนี้เหมือนกับเป็นการปฏิบัติหน้าที่

เพราะได้รับมอบหมายจาก “ผู้บังคับบัญชา”

ก่อนการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน 2560 อาจเป็นเรื่องปรกติ

ก่อนการประกาศพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เมื่อเดือนธันวาคม 2561 อาจเป็นเรื่องปรกติ

Advertisement

แต่พลันที่เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งก็เริ่มกลายเป็น “อ-ปรกติ”

กลายเป็นสภาวะแปลกแยก กลายเป็นเหมือน “ไส้ติ่ง” ซึ่งไม่มีความจำเป็นขององคาพยพในทางการเมือง

เช่นเดียวกับการดำรงอยู่ของ 4 รัฐมนตรีและเครือข่าย

Advertisement

การดำรงอยู่ของ 4 รัฐมนตรี ทั้งๆที่ประกาศตนเป็นหัวหน้าพรรค เป็นรองหัวหน้าพรรค เป็นเลขาธิการพรรค เป็นโฆษกพรรค ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองมาโดยตลอด

เริ่มจากการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561

คำถามก็คือ เมื่อไรจึงจะเป็นเวลาที่เหมาะสมในการลาออก

จากเดือนพฤศจิกายน 2561 กระทั่งมาถึงเดือนมกราคม 2562 ก็ยังมีคำถามนี้อยู่

โดยที่ทั้ง 4 รัฐมนตรีก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะตัดสินใจ

หากฟังจากคำอธิบายของ 4 รัฐมนตรี คล้ายกับว่าการสวมหมวก 2 ใบของท่านระหว่างตำแหน่งใน ครม.กับตำแหน่งในพรรค การเมืองถือเป็นการเสียสละอย่างใหญ่หลวง

เพราะทำให้เกิดการเสียเปรียบทางการเมืองไม่สามารถเคลื่อนไหวหาเสียงได้ 24 ชั่วโมง

แต่สังคมกลับมองสภาพของ 4 รัฐมนตรีในทางตรงกันข้าม

มองว่าไม่มีสปิริต มองว่าขาดจริยธรรมทางการเมือง

หากว่าผ่านจากเดือนมกราคมเข้าไปยังเดือนกุมภาพันธ์ และใกล้วันที่ 24 มีนาคม มากเพียงใด คำถามจะรุกเร้าและกดดัน 4 รัฐมนตรีมากเพียงนั้น

เหมือนคำถามต่อคำสั่งให้ กอ.รมน.คอยติดตามนักการเมือง ฝ่ายตรงกันข้าม

เป็นคำถามถึงหัวหน้า คสช. เป็นคำถามถึงหัวหน้ารัฐบาล

ในที่สุดเรื่องก็ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าจนได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image