มติชนเลือกตั้ง : ‘กกต.’แฉร้องวุ่น200คดี ติวเข้ม‘ขรก.’เป็นกลางเลือกตั้ง เคาะประตูชวนกาบัตรไม่ต่ำ80%

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการ กกต.และเลขาธิการ กกต. เข้าร่วมการประชุมเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงแนวทางและกฎระเบียบต่างๆ ในการจัดการเลือกตั้ง โดยมีผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย (มท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 1,399 คน เข้าร่วมรับฟัง

นายอิทธิพรกล่าวถึง บทบาทหน้าที่ข้าราชการต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีก 30 วัน ถือเป็นวันที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองเพราะเป็นประตูก้าวแรกไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี และครั้งแรกของรัฐธรรมนูญ 2560 เงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จ คือ การมีบทบาทสำคัญและแข็งขันของข้าราชการทุกคน ในฐานะข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมือง และหน้าที่ในสิทธิพลเมืองไทย สิทธิทางการเมืองเป็นสิทธิเฉพาะตน โอนให้ผู้ใดไม่ได้ ทุกคนจึงต้องไปใช้สิทธิ แต่ในฐานะข้าราชการมีตำแหน่งหน้าที่เป็นตัวกำกับ จึงต้องระมัดระวังให้เป็นกลางทางการเมือง โดยกฎหมายห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบกระทำการเป็นคุณหรือเป็นโทษให้กับผู้สมัครและพรรคการเมือง จึงเน้นย้ำให้ระมัดระวังรักษาความเป็นกลาง เพราะการเลือกตั้งมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น หลังการประกาศชื่อผู้สมัคร มีข้อร้องเรียนเข้ามายัง กกต.มากกว่า 200 กว่าคดีแล้ว ข้าราชการจึงต้องระวังไม่ให้ถูกร้องเรียนเรื่องความเป็นกลาง และขอให้ทำงานภายใต้ หลักการ “รอบรู้” คืออ่านและทำความเข้าใจกฎหมายให้มาก “ริเริ่ม” คือ เตรียมแผนรับมือปัญหาในหลายรูปแบบและ “รวดเร็ว” เมื่อพบการกระทำผิดใดๆ ขอให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว

“การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัคร ส.ส.มากเป็นประวัติศาสตร์ โดยมีจำนวนมากกว่า 1 หมื่นคน และเป็นการส่งสมัครจากพรรคการเมืองมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา งานของเราจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม คือวันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตและในเขตจังหวัด มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ มากกว่า 2.6 ล้านคน แต่ก่อนวันดีเดย์ยังมีงานต่างๆ อีกมากมายโดยเฉพาะการเคาะประตูบ้านให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด รวมทั้งต้องมีความเข้าใจในกฎกติกาใหม่ งานด้านการข่าว และการจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว ผมเชื่อว่าข้าราชการมีความกล้าหาญไม่อยู่ใต้การครอบงำของผู้ใด ขอให้ยึดมั่นในความเป็นธรรม เน้นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและผู้สมัคร ทำงานเป็นทีมด้วยจิตอาสา และขอให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโหวต เอาไว้ในโทรศัพท์เพราะเป็นคู่มือที่เป็นประโยชน์ กรณีมีข้อสงสัยโทรสายด่วน 1444 เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง” ประธาน กกต.กล่าว

ด้านนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กกต.กล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ เป็นครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการเลือกตั้งที่คนไทยเฝ้ารอ โดยการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายคือ ปี 2554 ส่วนการเลือกตั้งปี 2557 ไม่นับรวม เพราะศาลสั่งให้เป็นโมฆะ ดังนั้นทุกฝ่ายจึงคาดหวังว่าหลังการเลือกตั้งจะไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรง ให้เป็นการเลือกตั้งสมานฉันท์ นอกจากนี้ ทั่วโลกยังจับตาดูประเทศไทยว่าการเลือกตั้งจะเรียบร้อยสุจริตเที่ยงธรรม ได้รับการยอมรับในมาตรฐานสากลหรือไม่ ขอให้เร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนออกมาใช้สิทธิ เพราะ กกต.ตั้งเป้าให้มีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และบัตรเสียไม่เกินร้อยละ 2 สิ่งที่ห่วงคือการทำความเข้าใจถึงกฎระเบียบต่างๆ และการกาบัตรลงคะแนน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เขตเลือกตั้งลดลงจาก 375 เขต เหลือ 350 เขต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน การนับคะแนนใช้ระบบจัดสรรปันส่วน
ทุกคะแนนมีค่าไม่ทิ้งน้ำ บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีค่า 3 อย่าง ได้ ส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และว่าที่นายกฯ และขอย้ำว่าการที่ กกต.ออกระเบียบต่างๆ มา เป็นการออกตามกฎหมาย ไม่ได้เอาใจพรรคการเมืองใด ปฏิบัติเท่าเทียมกันทุกพรรค

Advertisement

นายธวัชชัยกล่าวอีกว่า สำหรับบุคลากรกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต ขอให้เลือกเฟ้นคนที่เป็นกลาง
ไม่ฝักใฝ่การเมือง มีประสบการณ์ ไม่ใช่คนที่ต้องมาเรียนรู้งานใหม่และเพื่อลดข้อกังวลในการปฏิบัติงาน กกต.จึงได้ออกระเบียบให้ถือว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หากกระทำการโดยสุจริตจะได้รับความคุ้มครองทั้งทางแพ่งและอาญา ในการปฏิบัติหน้าที่ขอให้ทำความเข้าใจกฎหมายและระเบียบต่างๆ ในการจัดการเลือกตั้งให้ดี อย่างน้อยต้องรู้ว่าการกระทำใดเป็นความผิด โดยขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจสนับสนุนการเลือกตั้งขึ้นแล้ว เพื่อเป็นหน่วยหลักในการประสานงานดูแลด้านความสงบเรียบร้อย ส่วนกรณีที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขอเปลี่ยนเวลาลงคะแนนจาก 08.00-17.00 น. เป็น 08.00-15.00 น. แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ กกต.จะสนับสนุนงบประมาณเพิ่มและประสานให้ทหาร ตำรวจ ดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

“ในส่วนของการรณรงค์การเลือกตั้ง เดิม กกต.ใช้ ศส.ปชต. ลูกเสือ กกต. รด.จิตอาสา โดยไม่ได้ดูมวลชนอื่นที่อยู่ในการดูแลของหน่วยราชการต่างๆ เมื่อ กกต.ใหม่เข้ามามีความคิดที่จะต่อยอดการทำงานของกลุ่มมวลชนเหล่านั้น เช่น อาสาสมัครจากกระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะทำการตั้งเป็นเครือข่ายร่วมกับ กกต.ที่จะเข้าไปเดินเคาะประตูบ้านเชิญชวน และอธิบายขั้นตอนในการใช้สิทธิ ในช่วงวันที่ 1-23 มีนาคมนี้ โดยหลังการเลือกตั้ง กกต.จะประเมินผล หากผลการตอบรับดี การเลือกตั้งครั้งหน้าจะจัดงบประมาณเข้าไปสนับสนุน และขอให้เน้นประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าว เปิดทั้งวันทั้งคืนยังไงก็จำได้ เหมือนเพลงที่ไม่ชอบ เปิดฟังทุกวันจนชอบไปเอง หรือเรามองผู้หญิงไม่สวยมองทุกวันจนสวย” นายธวัชชัยกล่าว และว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ไปดูการเลือกตั้งล่วงหน้า ในวันที่ 17 มีนาคมเพื่อให้คำแนะนำ เพราะมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเป็นจำนวนมากจึงเป็นห่วงเรื่องการแจกบัตรให้กับผู้มีสิทธิ จะต้องตรงกับเขตของผู้มีสิทธินั้น รวมถึงแนะนำการกาบัตรที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ขอให้แต่ละพื้นที่เตรียมทำแผนเผชิญเหตุล่วงหน้า โดยประเมินว่าก่อนและหลังวันที่ 24 มีนาคม จะเกิดเหตุอะไรในพื้นที่บ้าง เช่น ฝนตกหนัก พายุเข้า น้ำท่วม ไฟไหม้ ไฟดับ อีกทั้งหน่วยเลือกตั้งไหนที่อยู่บนเกาะในทะเลให้ดูด้วยว่าจะใช้วิธีขนหีบเลือกตั้งอย่างไร รวมทั้งขอให้ดูแลการปิดป้ายหาเสียง ทั้ง 3 แบบ เนื่องจากสถานที่ปิดป้ายหาเสียงยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในสถานที่ราชการจึงขอให้ผู้ว่าฯและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยจัดหาสถานที่เพิ่มเติม และสอดส่องดูแลปัญหาทำลายป้ายหาเสียง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image