น.2 รายงาน : ผลวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ทิศทางสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการและนักการเมืองกรณีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสาร มติเอกฉันท์สูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 91

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

มติของศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้คือการเปิดช่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยหรือใช้สูตรในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ทุกสูตร เนื่องจากศาลไม่ได้เอ่ยถึงวิธีคิดคำนวณว่าต้องเป็นแบบไหนอย่างไร ไม่ว่าจะสูตรของ กรธ.ที่ให้พรรคเล็กได้ หรือสูตรตามที่นักวิชาการหลายท่านเสนอให้พรรคเล็กไม่ได้ที่นั่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ กกต.จะบังคับใช้

Advertisement

ผลที่เกิดขึ้นมองได้ 2 มุมคือ ทางกฎหมายกับการเมือง ในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่ยุติและผูกพันกับทุกองค์กร แต่ทางกฎหมายไม่ได้ลงลึกหรือชัดเจนว่าวิธีคิดต้องเป็นอย่างไร แน่นอนว่า ม.128 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ม.91 ดังนั้น จึงเป็นการเปิดกว้างให้ทุกสูตรคำนวณ ซึ่งประเด็นที่จะมาร้องภายหลัง ไม่ว่าจะใช้สูตรคำนวณแบบใด ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ คงไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การคิดของ กกต.จะส่งผลทั้งทางกฎหมายและทางการเมือง ทางกฎหมายคือ เมื่อมีการประกาศรับรองผลออกมา ผู้มีส่วนได้เสียสามารถไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ถ้าคิดว่าตนเองได้รับผลกระทบจากวิธีคิดหรือการบังคับใช้กฎหมายของ กกต.

เช่น หาก กกต.คิดสูตรให้พรรคเล็ก คนที่อยู่ในพรรคใหญ่ก็มีโอกาสไปร้องศาลได้ หาก กกต.คิดคำนวณสูตรให้พรรคใหญ่ คนที่อยู่ในพรรคเล็ก ที่ไม่ได้รับที่นั่งก็มีโอกาสไปร้องได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ในเชิงข้อกฎหมายเรียกว่าจบเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

Advertisement

ขณะทางการเมือง นี่เป็นปัญหาใหญ่มาก เนื่องจากข้อถกแถลงในส่วนของกระบวนการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะไปเกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาลด้วย หากการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้มีลักษณะ 2 ขั้วที่ชัดเจน และเสียงไม่ได้ปริ่มน้ำแบบนี้ เชื่อว่าคงไม่ค่อยมีใครสนใจสูตรคำนวณ ส.ส.รายชื่อมากนัก แม้จะบวกลบ 10 ที่นั่งก็ตาม

แต่ที่คนสนใจเป็นเพราะเพียง 1 ที่นั่งก็เกิดผลได้ผลเสียเช่นกัน กระทบต่อความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ กระทบความชอบธรรมของการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ ตลอดจนสภาที่จะเกิดขึ้นด้วย

กระบวนการทางการเมืองยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะขณะนี้ นอกจากเรื่องการประกาศรับรองผล ส.ส.แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินยังส่งเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่รู้ว่าศาลจะรับหรือไม่

หากรับแล้วจะวินิจฉัยอย่างไร เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการตั้งรัฐบาลว่าจะราบรื่นหรือไม่ จะต้องเกิดขึ้นในภาวะที่มี 2 สภาสมบูรณ์ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.

ถ้าตอนนี้มีการประกาศรับรองผล ส.ส.บัญชีรายชื่อออกมาก็สมบูรณ์เพียงสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร และแม้ว่าจะมีการประกาศชื่อ ส.ว.ออกมา แต่ก็ต้องดูอีกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคดีที่ผู้ตรวจการฯส่งไปหรือไม่ ถ้ารับ ก็ต้องดูว่าศาลจะวินิจฉัยเมื่อไหร่ จะวินิจฉัยก่อนเปิดสภาหรือหลังเปิดสภา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากวินิจฉัยก่อนเปิดสภาก็จะเป็นปัญหา เพราะถ้ามีเฉพาะ ส.ส.ก็เลือกนายกฯไม่ได้ ต้องมี ส.ว.ด้วย เพราะการเลือกนายกฯครั้งนี้เขียนไว้ชัดเจนว่าต้องประชุมร่วมกัน 2 สภา ดังนั้น โอกาสที่จะทำให้การเมืองราบรื่น ดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก

ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ต้องมองย้อนกลับไปว่า สังคมตั้งคำถามกับกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่มีการเลือกตั้งมาโดยตลอด ทั้งเรื่องความเป็นกลาง การตัดสินบนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตย

โดยสิ่งที่เป็นผลจากการกำหนดให้พรรคเล็กได้เสียง เป็นสิ่งที่เอื้อให้พรรคพลังประชารัฐสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ง่ายขึ้น เพื่อให้ได้เสียงในสภาครบ 250 แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนคาดเดาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐจะได้เป็นรัฐบาล

ที่ผ่านมาก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นว่า หากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็จะไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้น กลไกเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรคการเมืองอย่างแท้จริง

หากคิดตามสัดส่วนจริงๆ ผมเห็นด้วยกับหลายส่วนที่ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 71,000 คะแนน เท่ากับ 1 เก้าอี้ ซึ่งน่าจะเป็นหลักการที่ทุกคนยอมรับ อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ไม่ได้มีนัยยะสำคัญอันจะส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ (Political Landscape) หรือการเมืองหลังเลือกตั้ง เพราะบ้านเมืองยังถูกควบคุมโดยทหารหรือ คสช.อยู่

โดยเฉพาะการใช้อำนาจในการควบคุมไม่ให้เกิดการต่อต้าน ไม่ให้เกิดการแสดงความเห็นขัดแย้ง หรือการให้ความเห็นที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของ คสช.หรือรัฐบาล

อำนาจของทหารตรงนี้มีอิทธิพลมากกว่าคำตัดสินของศาล เนื่องจากยังมีการใช้อำนาจของทหารและ คสช.ในการกำหนดทิศทางทางการเมืองหลังการเลือกตั้งอยู่

รวมทั้งที่ผ่านมาก็เกิดคำถามอยู่ตลอดเวลาเรื่องการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระต่างๆ เช่น กกต. ว่าทำงานโดยอิสระจริงหรือไม่ ทำงานอยู่บนพื้นฐานของการสนับสนุนให้ประเทศกลับไปสู่ประชาธิปไตย หรือคืนอำนาจให้ประชาชนจริงหรือ

ดังนั้น คำตัดสินของศาลจึงไม่ได้มีนัยยะทางการเมืองมากนัก ในเมื่อทหารและ คสช.ยังมีอิทธิพลในการควบคุมและกำหนดสถานการณ์อยู่

ปิยบุตร แสงกนกกุล
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

หลังจากรับฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยเรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่วินิจฉัยว่ามาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดกับมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ดังนั้น กกต.สามารถนำฐานของกฎหมายทั้ง 2 มาตรา มาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ การคำนวณสูตรต้องเป็นไปตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ คือห้ามเกิน ส.ส.พึงมี แต่ละพรรคจะนำคะแนนที่ต่ำกว่า 71,000 คะแนน มาคำนวณไม่ได้

ดังนั้นถ้าคำนวณสูตรบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีเพียง 16 พรรคที่ได้รับการจัดสรร ส.ส. ส่วนสูตรที่มี 27 พรรคไม่สามารถใช้ได้ ทั้งหมดเป็นอำนาจโดยแท้ของ กกต. ที่จะวินิจฉัยเช่นใด

ซึ่งหากพรรคการเมืองเสียหายโดยตรง หรือหากมีว่าที่ ส.ส.แล้วไม่ได้เป็น ส.ส.ก็สามารถอาศัยช่องทางตามกฎหมายฟ้องร้อง กกต.ได้

ถ้าเป็นสูตรของ กกต.ที่จะพิจารณาให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อกับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมี พรรคอนาคตใหม่จะเสียที่นั่ง ส.ส.ไปประมาณ 7-8 ที่นั่ง หรือคิดเป็นคะแนนดิบ 6 แสนคะแนน

ขณะเดียวกันพรรคอื่นว่าที่ ส.ส.ก็หายไปเช่นกัน เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย หากรวมคะแนนดิบของทุกพรรคแล้ว จะหายไปเกือบ 1 ล้านคะแนน

ส่วนพรรคเล็กได้แค่ 3-6 หมื่นคะแนนได้ ส.ส. นอกจากนี้พรรคฝ่ายประชาธิปไตย รวมเสียงได้เกิน 251 เสียง แต่หากใช้สูตร 27 พรรค พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะเหลือประมาณ 240 กว่าเสียง

ชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 นั้น คำวินิจฉัยชัดเจน ว่ากฎหมายไม่มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

หมายความว่า กกต.สามารถคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวให้ความชอบธรรม กกต.คำนวณ ส.ส.โดยให้พรรคการเมืองที่มีคะแนน
ไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมีได้จำนวน ส.ส.

เพราะการคำนวณต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่เกรงว่า กกต.จะเข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้วสามารถคำนวณให้พรรคที่คะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมีได้ ส.ส. ซึ่งมันไม่ใช่

หาก กกต.ให้พรรคที่มีคะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมีได้ที่นั่ง ส.ส. หากเป็นเช่นนั้นถือว่า กกต.กระทำผิดรัฐธรรมนูญ ต้องมีความรับผิดชอบ

ส่วนจะดำเนินการอย่างไรคงมีช่องทางอยู่ ซึ่งพรรคกำลังศึกษาข้อกฎหมายอยู่

มติเอกฉันท์ศาลรัฐธรรมนูญ
ม.128พ.ร.ป.เลือกตั้งไม่ขัดรธน.

วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และที่ประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วลงมติ ปรากฏผลการลงมติว่าศาลโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128 เป็นบทบัญญัติที่มีหลักการเกี่ยวการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ และคิดอัตราส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีราชชื่อจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 วรรคหนึ่ง (2) แม้บทบัญญัติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128 มีการบัญญัติรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 แต่ก็เป็นเพียงการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีคำนวณ คิดอัตราส่วนเพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยกำหนดวิธีการคิดคำนวณในกรณีที่ไม่สามารถจัดสรรครบหนึ่งร้อยห้าสิบคนดังปรากฏรายละเอียดตามมาตรา 128 วรรคหนึ่ง (2) (3) (4) (5) (6) และ (7) ซึ่งเป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคหนึ่ง และวรรคสามแล้ว จึงวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับให้ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image