นิติจุฬาฯจัดปาฐกถา เบื้องหน้า-เบื้องหลังวงการนิติบัญญัติ เล่าอดีต 40 ปี จากโรเนียวถึงยุคดิจิทัล

นิติจุฬาฯจัดปาฐกถา เบื้องหน้า-เบื้องหลังวงการนิติบัญญัติ ‘ศ.พิเศษ กาญจนารัตน์’ เล่าอดีต 40 ปี จากโรเนียวถึงยุคดิจิทัล

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 มิถุนายน ที่ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานปาฐกถาประยูร กาญจนดุล ครั้งที่ 11 ในหัวข้อ ‘เบื้องหน้า-เบื้องหลัง : 40 ปีในวงการนิติบัญญัติไทย’ โดยศาสตราจารย์พิเศษ กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครองสูงสุด เนื่องในโอกาสวันสถาปนาคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

ศาสตราจารย์พิเศษ กาญจนารัตน์ กล่าวว่า นักกฎหมายที่จบจากจุฬาฯ ในอดีต กับในวันนี้ต่างกันลิบลับ เนื่องจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งขึ้นในช่วงที่สถาบันอื่นเข้มแข็งในวงการมานานแล้ว การที่จะทำให้คนในวงการนิติศาสตร์ยอมรับนักกฎหมายจากจุฬาฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะต้องเข้มแข็งในเนื้อหาวิชาการ ยังต้องแสดงศักยภาพให้คนทั่วไปเห็นว่าไม่ได้มีความรู้เฉพาะในหนังสือ แต่สามารถนำความรู้ไปใช้กับสังคมและชีวิตจริงให้ได้ ต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ แล้วชื่อเสียงก็จะกลับมาที่สถาบัน ตนเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่คณะนี้ได้ทุ่มเท บ่มเพาะ ให้ความรู้ ประสบการณ์ และความอบอุ่น ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตหรือแม้กระทั่งเรียนจบแล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ต้องกลับมาที่คณะ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่จะทดแทนคุณ โดยนำประสบการณ์ทั้งที่ดีและไม่ดีมาแลกเปลี่ยนให้รับฟัง เพื่อการแก้ปัญหาในอนาคตต่อไป

การที่มาพูดในหัวข้อนี้ เนื่องจากตลอดชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะตำแหน่งใด งานส่วนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบมาตลอดคืองานที่เกี่ยวข้องกับนิติบัญญัติทั้งสิ้น เมื่อเรียนจบ ได้ไปทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นได้เรียนต่อปริญญาโทเพิ่มเติม ต้องเขียนวิทยานิพนธ์ไปด้วยทำงานไปด้วย โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย แต่ขณะนั้นเขียนได้แค่หัวข้อ ไม่รู้จะเขียนเนื้อหาอย่างไร ต้องอาศัยจากการทำงานจริง โดยในช่วง 4-5 ปีแรก คนคิดว่าต้องเก่งในการร่างกฎหมาย แต่จริงๆแล้วสิ่งที่ตนทำคือการเขียนกฎหมาย 2 อย่างเท่านั้นคือ 1. กฎหมายแบบ 2. แบบกฎหมาย

Advertisement

ศาสตราจารย์พิเศษ กาญจนารัตน์ กล่าวอีกว่า ตนเป็นคนไปทำงานเช้า ถึงที่ทำงานตั้งแต่ 06.30 น. จึงนำราชกิจจานุเบกษาซึ่งตีพิมพ์เป็นเล่มมาอ่านตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มล่าสุดในขณะนั้น หากมองเผินๆ เหมือนใช้เวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่ผ่านไป 10 ปี จึงรู้ว่าเป็นแหล่งความรู้ที่ดียิ่ง ทำให้ทราบว่ากฎหมาย ระเบียบ ประกาศต่างๆมีอะไรบ้าง ทิศทางและเนื้อหาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังทำให้มองเห็นวิธีการเขียน การใช้ถ้อยคำที่ไพเราะ น่าอ่าน และน้ำหนักของคำที่แตกต่างกัน ต่อมา ตนได้เริ่มทำงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสำคัญหลายเรื่อง โดยได้พยายามนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการต่างๆจนเป็นที่ยอมรับ

“สมัยก่อนเครื่องถ่ายเอกสารแพงมาก ก็ต้องโรเนียว พิมพ์ผิด ใช้น้ำยาลบ แต่พอทำงานไปสักพัก รู้สึกว่าน่าจะมีวิธีลดการทำงานด้านนี้ ไปเพิ่มการทำงานด้านสมอง โชคดีที่ไม่เคยทิ้งสถาบัน เวลามีปัญหาจะซมซานกลับมาที่นี่ จึงพบว่าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ มีวิทยานิพนธ์ดีเด่น เรื่องการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ เลยไปปรึกษาว่าจะเอามาใช้ประโยชน์กับกฎหมายได้ไหม ยุคนั้นแผ่นดิสก์ขนาดเท่าจานข้าว เคยถูกประณามว่าเป็นตัวประหลาด เพราะใช้คอมฯ ทำไมไม่เขียนให้ส่งพนักงาน โรเนียวออกมา เลยใช้คนเดียว คนอื่นๆไม่ยอมใช้ บอกล้าสมัย ต้องใช้พิมพ์ดีด ถึงจะทันสมัย ก็พยายามหว่านล้อมให้คนเห็นประโยชน์ ของการใช้คอมฯ ต่อมา จึงค่อยเป็นที่ยอมรับ” ศาสตราจารย์พิเศษ กาญจนารัตน์กล่าว

Advertisement

จากนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ กาญจนารัตน์ กล่าวถึงความพยายามในการประยุกต์ธรรมเนียมต่างๆเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ โดยไม่จำเป็นต้องเดินตามธรรมเนียมเดิม เช่น การเรียกมาตรา ต่างๆ

“กฎหมายสมัยก่อนๆ เวลาจะเพิ่มเติมเข้ามา เช่น 10 ทวิ 10 ตรี 10 จัตวา เกิน 10 ดิฉันก็ยอมแพ้แล้ว เวลาจะร่างกฎหมาย เร็วๆ วิธีนี้ไม่เวิร์กแล้ว ดังนั้น แทนที่จะเป็น 10 ทวิ เอาเป็น 10/1 10/2 10/3 ได้ไหม ที่ประชุมบอกจะดีหรือ เพราะผิดธรรมเนียมที่ทำมา มันประหลาดนะ แต่ดิฉันมองว่าธรรมเนียมบางอย่างสามารถประยุกต์ให้เข้าใจง่ายมาก จนได้รับการยอมรับมาถึงปัจจุบัน”

ศาสตราจารย์พิเศษ กาญจนารัตน์ กล่าวต่อว่า เมื่อได้เข้าไปทำงานจริงในสภา มีอะไรมากมายเกินกว่าตนจะเข้าใจ ต้องใช้หิริโอตตัปปะ อุเบกขา คิดอย่างเดียวว่า งานได้ผล คนมีความสุข ไม่มีใครเสียหน้า อยากฝากประสบการณ์ว่า การทำให้งานไปสู่ความสำเร็จ ไม่ต้องมีการเผชิญหน้ากัน ไม่ต้องฉีกหน้า ให้คุยอย่างมีเหตุผล ผลสำเร็จเกิดขึ้นได้หลากหลายวิธี

“เวลาทำงานในสภา คนคาดหมายว่านักกฎหมายเป็นผู้วิเศษ ถามอะไรต้องรู้ทุกเรื่อง แต่จริงๆแล้วเรารู้เฉพาะกฎหมายที่สนใจหรือเชี่ยวชาญ พอมาทำงานในสภานิติบัญญัติ มีการผ่านกฎหมาย 444 ฉบับ ร่างกฎหมายทุกฉบับที่เสนอเข้าสภาในระยะแรกๆ ดิฉันอ่านทุกฉบับตั้งแต่มาตรา 1 จนถึงมาตราสุดท้าย แต่ตอนหลังยอมแพ้ เพราะกฎหมายเข้าสภาเยอะ” ศาสตราจารย์พิเศษ กาญจนารัตน์ กล่าว

ผศ. ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับความกรุณาอย่างมากที่ศาสตราจารย์พิเศษ กาญจนารัตน์กรุณาสอนหนังสือให้นิสิตรุ่นแล้วรุ่นเล่า เมื่อครั้งตนเป็นนิสิตก็เคยได้เรียนวิชาร่างกฎหมายกับศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ย้อนหลังไปเกือบ 30 ปี งานวิชาการของท่านไม่ว่าจะเป็นสารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงประเด็นข้อกฎหมาย ข้อสังเกตต่างๆ ถือเป็นผลงานที่มีคุณค่ามาก เพราะทำให้มองเห็นภาพรวมของกระบวนการรนิติบัญญัติ สำหรับปาฐกถาในวันนี้สิ่งที่ได้รับไม่ใช่เรื่องทางวิชาการเท่านั้น แต่ได้รับฟังประสบการณ์ที่ไม่ได้เห็นในตำรา อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำรงตนในฐานะนักกฎหมายและมนุษย์คนหนึ่งในสังคม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง อดีต สนช.เผยเบื้องหลังกฎหมายเกี่ยวกับ”ใบสั่ง” ถกเถียงหนักจนต้องพัก 3 ชม.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image