อดีต สนช.เผยเบื้องหลังกฎหมายเกี่ยวกับ”ใบสั่ง” ถกเถียงหนักจนต้องพัก 3 ชม.

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 มิถุนายน ที่ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานปาฐกถาประยูร กาญจนดุล ครั้งที่ 11 ในหัวข้อ ‘เบื้องหน้า-เบื้องหลัง : 40 ปีในวงการนิติบัญญัติไทย’ โดยศ.พิเศษ กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครองสูงสุด เนื่องในโอกาสวันสถาปนาคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ (อ่านข่าว นิติจุฬาฯจัดปาฐกถา เบื้องหน้า-เบื้องหลังวงการนิติบัญญัติ เล่าอดีต 40 ปี จากโรเนียวถึงยุคดิจิทัล)

ศ.พิเศษ กาญจนารัตน์ กล่าวตอนหนึ่งถึงกฎหมายฉบับหนึ่งที่ประกาศแล้ว แต่ยังไม่มีผลใช้บังคับ ว่า  มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางการจราจรของบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ ‘พักการประชุม’ นานที่สุด ในรอบวงการนิติบัญญัติที่เคยทำมา โดยมีการพักการประชุมนานถึง 3 ชั่วโมง เพื่อถกเถียงกันว่าจะเขียนอย่างไร เริ่มจากประเด็นใบสั่งซึ่งไม่ว่าจะเป็นใบสั่งที่ตำรวจเขียนให้ ใบสั่งที่ส่งไปบ้าน หรือส่งไปตามเจ้าของของทะเบียนรถ หากอยู่ในประเทศไทย สามารถใช้ระบบไม่ให้ต่อทะเบียน แล้วหากเป็นบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทย มาทำผิดกฎจราจร จะทำอย่างไร เหตุใดประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายเหมือนกับต่างประเทศได้

“กรรมาธิการฝ่ายข้างน้อยคนหนึ่งถามว่า เดี๋ยวนี้โลกกว้างใหญ่แล้วนะ เราเป็นอาเซียนแล้ว สามารถขับรถจากลาว กัมพูชา เวียดนาม โดยขับรถของประเทศเขาเอง หรือบินมาเช่ารถในประเทศไทย โดยใช้ใบขับขี่สากล ถ้าเกิดอุบัติเหตุ หรือทำผิดกฎจราจรแล้วหนีไป จะทำอย่างไร ทำไมต่างประเทศเขาทำได้  เวลาไปเช่ารถต่างประเทศ ต้องถ่ายสำเนาพาสปอร์ตไว้ ต้องให้ที่อยู่ไว้ รูดบัตรเป็นประกันล่วงหน้า  ถ้าไปทำผิดกฎจราจรไม่ต้องเสียเวลาส่งใบสั่งให้เมื่อย บัตรเครดิตถูกตัดค่าปรับไปเรียบร้อย ทำไมประเทศไทยทำอย่างนั้นไมได้  จึงขอแปรญัตติว่า ถ้าคนขับไม่ใช่คนที่มีสัญชาติไทย ขับรถตัวเองเข้ามาหรือขับรถเช่าในไทย ให้บังคับบริษัทเช่ารถหักเงินเผื่อไว้ เช่น  เช่น สมมติมีการหักค่าประกันไว้ 100 ดอลล่าสหรัฐ ให้เพิ่มเป็น 150 เผื่อสำหรับเป็นค่าปรับในกรณีทำผิด ถ้าไม่ทำผิดก็คืนไป

กรรมาธิการฝ่ายข้างมาก ได้มอบให้กรรมาธิการฝ่ายข้างน้อยท่านเดียวกันนี้เป็นคนอภิปรายให้เหตุผล ท่านก็บอกว่า รัฐบาลเขียนไว้ดีแล้ว เขากลับประเทศจะไปไล่ตามเขามาได้อย่างไร แต่ถามว่าเราจะไม่มีกลไกอะไรเลยหรือ  คนไทยไปต่างประเทศ ยังถูกหักค่าปรับฐานทำผิดกฎจราจรได้  เถียงกันจนกระทั่งต้องพักการประชุม ซึ่งเป็นกฎหมายที่พักการประชุมนานที่สุด ในรอบวงการนิติบัญญัติที่เคยทำมา คือ 3 ชั่วโมง เพื่อถกเถียงกันว่าจะเขียนอย่างไร จะยอมหรือไม่ ถ้ายอมแล้ว จะยอมได้แค่ไหน” ศ.พิเศษ กาญจนารัตน์กล่าว

Advertisement

ศ.พิเศษ กาญจนารัตน์ กล่าวต่อว่า คนสงสัย ว่าเวลาประชุมสภาฯ อยู่ดีๆพักการประชุม หายเงียบไปกินกาแฟหรืออย่างไร อยู่ดีๆ ออกมายินยอมพร้อมใจ ทุกคนงงไปหมด จริงแล้ว การพักการประชุม เป็นกรณีที่ให้ฝ่ายเห็นด้วย ฝ่ายค้าน ฝ่ายแย้ง ฝ่ายกองเชียร์ ฝ่ายสนับสนุน มานั่งคุยกันในห้องเล็กๆ หลังบัลลังก์ ว่าจะสามารถประนีประนอม หรือหาทางออกที่ดีที่สุดกับกฎหมายฉบับนั้นได้อย่างไร  เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ และเกิดประโยชน์กับสังคมมากที่สุด

Advertisement

“คุยกันไปคุยกันมา ตำรวจบอก ผมไม่มีอำนาจออกไปนอกราชอาณาจักร จะไปไล่จับเขาได้อย่างไร เราก็บอกว่าไม่ได้ให้ไปไล่จับที่ต่างประเทศ แต่ให้จัดการในเมืองไทย โดยมาตรการหรือกลไก ให้นิติบุคคลของไทยที่ดูแลเรื่องนี้มีส่วนช่วยในการทำให้คนต่างชาติปฏิบัติตามกฎหมายไทย เขาบอกบังคับไมได้ เพราะนิติบุคคลผู้ให้เช่ารถไม่ใช่ผู้กระทำความผิด เราก็บอกว่า เขาไม่ได้กระทำความผิด แต่ให้เขามีส่วนช่วยราชการในการจัดการกับคนกระทำความผิด คุยกันอยู่ 3 ชม. จนมีข้อเสนอว่าเอาอย่างนี้ไหม ถ้าคนที่มาเช่ารถไม่ใช่คนไทย ไม่มีสัญชาติไทย กระทำความผิด หรือมาเช่ารถ ให้บริษัทเช่ารถ บันทึกข้อมูลไว้ก่อน

ถ้าปรากฏว่ามีรถทะเบียนประเทศไทยทำผิด โดยเป็นรถของบริษัทเช่ารถ ก็ให้บริษัทเช่ารถแจ้งให้ตำรวจทราบ แล้วทำแบล็คลิสต์ไว้ว่า นายเอ จากประเทศไหน มาเช่ารถแล้วกระทำความผิด ต้องโทษปรับ ต่อไปถ้านายเอมาอีก ต้องแจ้งนายเอ ว่าคุณเคยกระทำความผิด ให้ไปเสียค่าปรับ ถ้าไม่ยอม ไม่ให้เช่ารถ แต่ตรงนี้ตำรวจต้องไปประสาน ทำความเข้าใจ ขอความร่วมมือกับภาคเอกชน แต่มันไม่ได้จบแค่นี้ เราต้องทำสภาพบังคับให้เกิดกับกฎหมายของเราให้เท่าเทียมกันให้ได้”ศ.พิเศษ กาญจนารัตน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image