‘อรุณ วัชระสวัสดิ์’ คิดอย่างไร นักเขียนไปเป็น ส.ว. มองสถานการณ์ ซัดกันนัว เห็นต่างทางการเมือง

“การ์ตูนอรุณ” ห่างหายจากหน้า 3 หนังสือพิมพ์มติชนไปนานหลายเดือน นอกจาก “มติชนออนไลน์” จะมีโอกาสเยี่ยมบ้านไปอัพเดตเรื่องสุขภาพ และพูดคุยเรื่อง “ล้อธรรม” นิทรรศการศิลปะการ์ตูน 72 ปี อรุณ วัชระสวัสดิ์ ซึ่งจะมีพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ที่โถงนิทรรศการ ชั้น 2 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) แล้ว

ยังไม่พลาดสอบถามเรื่องราวในแวดวงนักเขียน ที่มีบางคนสงสัยว่า การที่นักเขียนออกมาให้การสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ เพราะต้องหารายได้ประทังครอบครัว การ์ตูนนิสต์ล้อการเมืองอย่างอรุณคิดเห็นอย่างไร?

ผมเห็นใจเขานะ เพราะอาชีพบางอาชีพ ถ้าไม่ดังจริง อยู่ยาก ถึงจะดังจริงๆ ก็ยังอยู่ยาก เพราะหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่รับผลงานน้อย ค่าจ้างก็ออกจะต่ำ” อรุณตอบ

และว่า จุดอันตรายที่สุดของนักเขียนการ์ตูนคือ การเห็นใจคนทำให้ทำงานไม่ได้ ดังนั้น ทุกคนมีเหตุผลในการทำหมด ไม่ว่าทำดีหรือชั่ว หากเราไปเข้าใจเขาจะเขียนการ์ตูนไม่ได้ ต้องพยายามไม่เข้าใจบ้าง

Advertisement

“สมมุติว่าเขาจำเป็นต้องเป็น ส.ว. ผมเข้าใจว่าทำไมเขาต้องเป็น เขาอาจเดือดร้อนเรื่องฐานะหรือชื่อเสียง พอเราคิดและเข้าใจขึ้นมาก็เขียนไม่ได้แล้ว ดังนั้น บางครั้งต้องแบ่งเรื่องความเข้าใจไว้ครึ่งหนึ่ง ถึงจะเขียนได้ ส่วนอุดมการณ์จะเปลี่ยนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่งาน อยู่ที่ใจเขา แต่เราไม่รู้ว่าใจเขาคิด หรือที่เขาทำอยู่เป็นความคิดจริงๆ ของเขาหรือเปล่า ถ้าเป็นความคิดจริงๆ ก็น่ากลัว แต่ถ้าเป็นความคิดหลอกเพื่อที่จะให้ได้มีเงินใช้ มีชีวิตสบาย ก็น่าเห็นใจ

มีแต่คนพูดว่าคนนั้น คนนี้เปลี่ยนอุดมการณ์ ผมไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยน ดังนั้น ปัญหาคือเราไม่รู้ ผมรู้สึกว่ามันคงไม่แฟร์ถ้าเราจะไปตีความว่าคนนี้เขาเปลี่ยนอุดมการณ์ เห็นใจเขา คนพวกนี้ส่วนมากจะไม่ค่อยพูด ยกเว้นพวกที่พูดว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ซึ่งชัดเจน แต่ประเภทที่เปลี่ยนไปเฉยๆ แล้วไม่พูด อันนี้น่าสงสัยว่าเขาคิดยังไง เขาทนได้ยังไงกับเสียงคนที่ว่าเขา เขาได้ยินหรือเปล่า หรือเขาไม่ได้ยิน ถ้าเขาได้ยิน หรือเห็น ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาทนได้”

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อรุณจะมองว่า การที่บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชนไม่ประสงค์พิจารณาต้นฉบับจากนักเขียนและนักแปลที่เห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหารปี 2557 เพราะเป็น “สิทธิ” ของเขา

Advertisement

“ผมเข้าใจ เพราะหนังสือหรือสำนักพิมพ์ต้องการเอกลักษณ์ เขามีลูกค้า จึงต้องการหนังสือหรือผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา สมมุติว่าเขาพิมพ์หนังสือประเภท A ตลอดเวลา เขาคงจะไม่สามารถพิมพ์ประเภท B ออกไปขายได้ เหมือนการ์ตูนแหละครับ ตอนจะเขียนก็ต้องดูว่าในหนังสือพิมพ์นั้น เราจะอยู่ร่วมกับเขาได้ไหม เพราะนี่ไม่ได้เป็นทางเลือกของสำนักพิมพ์อย่างเดียว แต่เป็นทางเลือกของผู้เขียนด้วย อย่างผมคือเลือกมาก หนังสือพิมพ์ไหนที่มีบุคลิกหรือแนวความคิดที่ผมไม่ชอบ หรือขัดกับความคิดของผม ผมก็ไม่เขียน ก็เหมือนกัน ถ้ามีความคิดอีกอย่างหนึ่งเขาก็ไม่จ้างผม ดังนั้น ที่สามัญชนทำก็ไม่แปลกอะไร เพียงแต่เขาประกาศออกมาเท่านั้นเอง แต่สำนักพิมพ์อื่นไม่ประกาศ”

ย้อนอ่าน : กลับมาให้หายคิดถึง! ‘ล้อธรรม’ นิทรรศการศิลปะการ์ตูน 72 ปี อรุณ วัชระสวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image