วิษณุ ยัน บิ๊กตู่ไม่ได้รวบอำนาจความมั่นคง หวังผลการเมือง ลุยปฏิรูปดีเอสไอไม่ให้ขัดแย้งตร.

“วิษณุ” เผย บิ๊กตู่ จ่อปรับโครงสร้างดีเอสไอ รับเฉพาะคดีพิเศษ ป้องกันขัดแย้งตำรวจ ยันไม่ได้กระชับอำนาจหวังผลทางการเมือง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกมองว่ารวบอำนาจหลังกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ด้วยตัวเองว่า สำหรับดี เอสไอ เชื่อว่าอีกสักพัก คงจะมีการพูดคุยเพื่อปรับโครงสร้าง โดยต้องหารือร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สำนักงาน กพร. และตนในฐานะรองนายกฝ่ายกฎหมาย โดยนายกฯตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับการทำงานของ ดีเอสไอมาหลายเดือนแล้ว เพราะเห็นว่ามีตำรวจปฏิบัติงานอยู่มากเกินไป และอยากได้นักกฎหมายที่ไม่ใช่จาก สตช. มาทำงานด้วย พร้อมกันนี้ยังจะเน้นการให้ความเป็นธรรม ซึ่งดีเอสไอจะต้องดูแลคดีพิเศษเท่านั้น โดยมี 2 แนวทางในการพิจารณาคดีพิเศษ 1.อธิบดีดีเอสไอเป็นผู้พิจารณา 2. ให้คณะกรรมการคดีพิเศษเป็นผู้พิจารณา

“แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่าประชาชนไปร้องตำรวจ แล้วตำรวจเกิดเมินเฉย ช้า ไม่ได้ดั่งใจ จึงยกขบวนมาอย่างดีเอสไอ บางทีมาเยอะเหมือนม็อบ มานอนอยู่หน้าดีเอสไอ ซึ่งถ้าดีเอสไอไปรับเข้า บางครั้งก็จะทำให้เสียระบบ จึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ หากตำรวจช้า ก็ต้องเล่นงานตำรวจ ไม่ใช่ช้าก็โอนมาดีเอสไอ เพราะไม่งั้นถ้าดีเอสไอช้า ก็คงจะตั้งกรมอื่นแทนดีเอสไอ ข้อสำคัญคือ ต้องวางหลักเกณฑ์ให้ดี เพราะที่ผ่านมาเรื่องนี้ทำให้ตำรวจและดีเอสไอขัดแย้งกัน” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กำกับดูแลดีเอสไอด้วยตัวเอง เพราะ หวังจะใช้ดีเอสไอดำเนินการในเรื่องคดีความต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเมือง เพราะแม้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลงไปคุมด้วยตัวเอง แต่หากต้องหารใช้จริง ก็สามารถใช้ได้อยู่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะลงไปเปิดตัว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการลงไปดูเพื่อให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น โดยหลังจากนี้คาดว่าคดีความต่างๆ ที่จะเข้าดีเอสไอ จะต้องมีการสกรีนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมานั้น ดีเอสไอย่อหย่อน เนื่องจากชาวบ้านมาร้องขอ ซึ่งเมื่อดีเอสไอทำคดีได้เร็ว ตำรวจก็เกิดความน้อยใจ ทั้งนี้ อะไรที่เป็นหน้าที่ของตำรวจ ตำรวจก็จะต้องทำ เพราะคดีที่จะเป็นคดีพิเศษจะต้องเข้าเกณฑ์ หรือเป็นคดีที่มีอิทธิพล คดีสำคัญซึ่งตำรวจไม่สามารถดำเนินการได้ โดยคดีพิเศษนั้น อัยการสามารถลงมาสอบด้วยได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image