ประวัติศาสตร์แห่ง ‘ส้วม’ ไทย 700 ปี ก่อนมีสาย ‘ฉีดชำระ’

กลายเป็นข่าวฮือฮาหนักมาก เมื่อสภาใหม่ไร้ ‘สายฉีดชำระ’ ทำเอาท่านประธายชวน ต้องเดินตรวจส้วมเป็นที่เอิกเกริก ไม่เพียงเท่านั้น งานนี้ยังมีการอ้างถึงวัฒนธรรมไทยว่าในวัฒนธรรมไทยต้องใช้น้ำชำระสิ่งสกปรก จะใช้เพียงกระดาษทิชชู่เพียงอย่างเดียวนั้น จะหาครบครันไม่! (อ่านข่าว ส.ส.โวย ห้องน้ำสภาใหม่ ไม่มีที่ฉีดก้น บอก“ผมปวดไปหมดแล้ว” ชี้ วัฒนธรรมไทย ต้องใช้น้ำ)

มาถึงตรงนี้ ‘มติชนออนไลน์’ ขอพาย้อนกลับไปในอดีตกาลว่ากว่าจะมาเป็นส้วมชั้นเลิศที่พร้อมพรั่งด้วยความสะดวกสบาย (และมีสายฉีดชำระ) นั้น การปลดทุกข์ของผู้คนในดินแดนไทย มีวิวัฒนาการอย่างไรมาบ้าง

ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งอธิบายถึงส้วมเก่าแก่ที่สุดในสยามไว้ในหนังสือ “มรดก 1,000 ปี เก่าที่สุดในสยาม” ว่า ส้วมที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในไทยเป็นส้วมสมัยสุโขทัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 หรือราว 700 ปีมาแล้ว

ส้วมสมัยสุโขทัยและส้วมที่ว่าจำกัดอยู่ในกลุ่มคนดังกล่าว คือส้วมของพระสงฆ์ เรียกว่า “วัจจกุฎี” หรือ “เร็จกุฎี” หรือ “ถาน” หลักฐานชิ้นส่วนสิ่งก่อสร้างของวัจจกุฎีที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือ แผ่นรองรับเท้าในขณะขับถ่าย หรือที่เรียกกันว่า “เขียง” ซึ่งใช้วางไว้เหนือหลุมรับอุจจาระ จำนวน 3 แผ่น ประกอบไปด้วยเขียงหิน 2 แผ่น และเขียงไม้ 1 แผ่น

Advertisement
ฐานเวจหิน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง สุโขทัย (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม)

ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อธิบายว่าเขียงทั้ง 3 แผ่น มีลักษณะเหมือนกันคือ มีรูขนาดใหญ่เจาะทะลุ นักวิชาการคาดว่าใช้สําหรับปล่อยให้อุจจาระผ่านลงไปยังหลุมด้านล่าง ส่วนด้านหน้ามีรางยาวเพื่อระบายปัสสาวะให้ไหลลงภาชนะที่วางรองรับอยู่ การแยกรางให้ปัสสาวะกับอุจจาระเช่นนี้ คาดว่าเพื่อแยกไม่ให้ปนกันเป็นการป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์

วัจจกุฎีที่พบไม่ได้มีแค่เขียงหินเช่นเดียวกับที่พบในสุโขทัย แต่ยังพบร่องรอยของห้องส้วมและบ่อเกรอะหลงเหลืออยู่ในบริเวณวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง หรือราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 อีกด้วย

สำหรับส้วมของคนทั่วไป ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ระบุว่า ไม่พบหลักฐานหรือร่องรอยเฉกเช่นส้วมของพระภิกษุ คาดว่าชาวบ้านนิยมถ่ายทุกข์กันตามป่าตามทุ่งหรือถ่ายลงแม่น้ำคูคลอง จนภายหลัง ชาวบ้านทั่วไปจึงค่อยๆ สร้างส้วมกันบ้าง ซึ่งโดยเดิมแล้ว คนทั่วไปมักนิยมเรียกว่า “เว็จ” ซึ่งแผลงมาจากคำว่า “วัจจกุฎี” อันมาจากวัจจกุฎีของพระสงฆ์

Advertisement

จากนั้น เขยิบมาใกล้อีกนิด ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานปรากฏในเอกสารโบราณตอนหนึ่งว่า

“ด้วยแต่เดิมหาได้ลงพระบังคนบนพระมหามณเฑียรเหมือนทุกวันนี้ไม่ ต่อเวลาค่อนย่ำรุ่ง ยังไม่สว่าง เสด็จไปที่ห้องพระบังคนหลังพระมหามณเฑียร”

นอกจากนี้ ยังมีการเล่ากันต่อๆมาว่า เมื่อพระมหากษัตริย์จะลงพระบังคน จะมีพนักงานนำไปจำเริญด้วยการลอยน้ำ โดยมีพนักงานเตรียมทำกระทงไว้วันละ 3 ใบ

ครั้นวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาแพร่หลาย ในหมู่ชนชั้นสูงก็มีวัฒนธรรมการขับถ่ายดังเช่นชาวตะวันตกนับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ส่วนในหมู่ชาวบ้าน ยังไม่นิยมสร้างส้วมในตัวบ้าน กระทั่งช่วงปลายรัชกาลที่ 5 กรมสุขาภิบาล จัดสร้างส้วมสาธารณะขึ้นครั้งแรกหรือสมัยนั้นเรียกว่า “เวจสาธารณะ” โดยมีการออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พ.ศ. 2440 ภาครัฐได้จัดสร้างส้วมสาธารณะขึ้นตามตำบลต่าง ๆ ตามข้อกำหนดในหมวดที่ 2 มาตรา 8 ที่ให้กรมศุขาภิบาล “จัดเว็จที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะของมหาชนทั่วไป”

ภาพจาก ‘ศิลปวัฒนธรรม’

ส้วมสาธารณะยุคนั้น มักตั้งอยู่บนถนนสายสำคัญ และตามสถานที่ราชการ โดยยุคแรกๆ เป็นส้วมถังเท มีฐานส้วมทำจากไม้ เจาะรูสำหรับนั่งขับถ่าย ข้างใต้มีถังสำหรับรองรับอุจจาระ ซึ่งจะมีบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐอย่าง “บริษัทสอาด” หรือ “บริษัทออนเหวง” เป็นผู้ทำหน้าที่จัดการเก็บและบรรทุกถังบรรจุอุจจาระและเปลี่ยนถ่ายถังใหม่ทุกวัน

เวลาผ่านไปจนคนไทยเริ่มมีส้วมคอห่านใช้ในบ้านอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. 2485 ส่วนส้วมชักโครกแพร่หลายในภายหลัง โดยเรียกชื่อตามรูปแบบในอดีตซึ่งตัวถังที่กักน้ำอยู่เหนือที่นั่งถ่ายสูงขึ้นไป เวลาใช้ต้องชักคันโยกให้ปล่อยน้ำลงมา มีเสียงดังจึงเรียกว่า “ชักโครก”

สำหรับสายฉีดชำระ มักเข้าใจกันว่ามีเฉพาะในประเทศไทย แต่แท้จริงแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่มีสายฉีดชำระ โดยเชื่อว่าจุดเริ่มต้นมาจากแถบเอเชียกลางในวัฒนธรรมมุสลิม แล้วแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยจนกลายเป็นประเด็นในข่าวการเมืองในวันนี้ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image