เปิดตัว ‘ราษฎรธิปไตย’ เจาะลึกอนุสาวรีย์รธน.ทั่วไทยสะท้อนสำนึกมีส่วนร่วมหลัง 2475

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ห้องเสน่ห์ จามริก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มธ. จัดเสวนา “ราษฎรธิปไตย” วิทยากรโดย ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์, ดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร และ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เขียน “ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และความทรงจำของ (คณะ) ราษฎร” ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มธ.

ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์

ผศ.ศรัญญูกล่าวว่า หลังเรียนจบปริญญาตรี ได้มาเรียนปริญญาโทที่ มธ.ได้อ่านงานวิพากษ์มากขึ้น รวมทั้งหลักฐานบางส่วนก็ได้จากการค้นคว้าเอกสารสมัยเรียนปริญญาโท ซึ่งพบว่าหลักฐานบางชิ้นไม่มีนักประวัติศาสตร์นำมาใช้ อีกส่วนหนึ่งคือเป็นการเปิดหลักฐานใหม่ อย่างไรก็ดี กว่าจะออกเป็นเล่มนี้คือค่อยๆ เก็บหลักฐานมาเรื่อยๆ ทั้งนี้ มีโอกาสปล่อยบทความบ้าง โดยเริ่มมีความสนใจกับสถาบันการเมืองเป็นอย่างแรก ต่อมาดูเรื่องอนุสาวรีย์ปราบกบฏ และอื่นๆ

(อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง : ‘ศรัญญู เทพสงเคราะห์’ ราษฎรธิปไตย ในสมรภูมิช่วงชิง ‘ความทรงจำ’ 2475)

ผศ.ศรัญญูกล่าวว่า หากดูในหนังสือ ภาค 1 จะเป็นความพยายามไปดูว่าอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญมีที่มาที่ไปอย่างไร สะท้อนสำนึกวิธีคิดของคนต่างจังหวัดอย่างไรบ้าง ซึ่งพื้นที่ที่มีเยอะที่สุดคือทางภาคอีสาน โดยเขาพยายามเชื่อมโยงตัวเองกับการเมืองช่วงนั้น จากนั้นพบกลอนลำรัฐธรรมนูญ พบว่ามีการนำเสนอเรื่องราว 2475 รัฐธรรมนูญ และหลัก 6 ประการผ่านกลอนลำ บทความต่อมาพูดถึงโทษประหารชีวิต พยายามอธิบายว่าหลัง 2475 รัฐมีแนวคิดเรื่องโทษประหารชีวิตอย่างไร รวมทั้งข้อเสนอในการยกเลิกโทษประหารหลัง 2475 ภาค 3 พูดถึงอนุสาวรีย์และความทรงจำ เริ่มด้วยอนุสาวรีย์ปรากบฏ โดยส่วนตัวมีประสบการณ์ร่วมกับสถานที่แห่งนี้พอสมควร นอกจากนี้ยังกล่าวถึงอนุสาวรีย์พระปกเกล้า ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่มีความพยายามสร้างราวปี 2490 ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับมามีบทบาท มีการเสนอให้สร้างอนุสาวรีย์ ร.7 แทนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้พบหลักฐานคือแบบแปลนซึ่งน่าสนใจมาก

Advertisement

“สำหรับชื่อหนังสือเป็นความคิดของบรรณาธิการกับผมช่วยกันคุย ซึ่งอยากเสนอชื่อที่มีความโดดเด่นและมีนัยยะทางการเมือง เห็นแล้วน่าอ่าน จึงตัดสินใจว่าน่าจะมีคำว่าราษฎรกับธิปไตย และพยายามเน้นให้เห็นว่าหลัง 2475 มีความพยายามให้อำนาจสูงสุดให้แก่ราษฎร” ผศ.ศรัญญูกล่าว

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าวว่า คนตั้งชื่อหนังสือ “ราษฎรธิปไตย” นั้นเท่มาก เพราะเราคงนึกถึงแต่ประชาธิปไตยที่มาจากประชาชน+ธิปไตย แต่คำนี้กลับใช้รากฐานของชนชั้นทางสังคมไทยกลับไปที่ราษฎร หากคิดให้ดี ปัจจุบันเราไม่คุ้นกับความเป็นราษฎร แต่เรารู้สึกเป็นประชาชนที่มีอำนาจ แต่หากย้อนกลับไปในยุคนั้น สถานะทางการเมือง หรือสถานะทางสังคมไทยแบ่งเป็นสองกลุ่มคือชนชั้นปกครอง กับกลุ่มราษฎร ดังนั้น คนกลุ่มนี้ที่รวมกลุ่มกันและต้องการเปลี่ยนระบอบทางการเมืองจึงเรียกว่าเป็นตัวแทนฝ่ายปีกราษฎร ชี้ให้เห็นถึงอำนาจธิปไตยคนละขั้ว โดยปีกของคณะเจ้านายนั้น ปัจจุบันนี้มีความพยายามอธิบายว่าเขาต้องการสร้างประชาธิปไตย เสมือน คสช.ที่ยึดอำนาจแล้วสร้างประชาธิปไตย ซึ่งทางรัฐศาสตร์ตอบว่าทำไม่ได้ แต่เราถูกอธิบายตลอดว่ามีการรัฐประหารเพื่อสร้างประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ตกค้างอยู่ในระบอบทางการเมืองในชื่อของราษฎรคือสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้เป็นสภาประชาชน ความไม่เปลี่ยนแปลงนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาทางการเมืองจาก 87 ปีจนถึงวันนี้อาจยังไม่เคลื่อนประเด็นไปไกลมากนัก

“เวลาเรามอง 2475 สิ่งสำคัญคือ เวลาเลือกรับรู้ เลือกอ่าน ต้องตระหนักว่างานชิ้นนั้นอธิบายถึงปีกไหน ปีกสนับสนุนสมบูรณาญาสิทธิราษฎร์ หรือปีกของคณะราษฎร โดยปีกของคณะราษฎรเพิ่งปรากฏโฉมราว 30 ปีก่อน ผมขอยกย่องบทความชิ้นสำคัญของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่บอกว่า 24 มิ.ย.2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม หรือสุกงอมเต็มที่ ซึ่งสั่นสะเทือนความเปลี่ยนแปลงการรับรู้และการศึกษา 2475 อย่างมาก” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

Advertisement
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ด้าน ดร.ธนาวิกล่าวว่า สิ่งที่ได้อ่านมาจากเล่มนี้ เช่น อนุสาวรีย์ต่างๆ ชี้ให้เห็นว่ามีมากกว่าที่เราคุ้นกันใน กทม. เช่น อนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญในต่างจังหวัด ทั้งนี้ ในหน้าหนึ่งของหนังสือระบุว่า มีการส่งแบบของอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญเหล่านี้จากกรมศิลปากรไปตามจังหวัดต่างๆ ที่ต้องการสร้าง ขณะที่เรามองว่าคณะราษฎรพยายามกระจายอำนาจออกไป และจังหวัดต่างๆ ก็มีความตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตย แต่ในบางเรื่อง รวมทั้งศิลปกรรมที่ชัดเจนมีแบบแผนบางอย่างที่ส่งออกไป ชี้ให้เห็นว่าศิลปกรรมเหล่านี้เป็นส่วนช่วยประชาสัมพันธ์ระบอบใหม่ หรือเป็นโฆษณาชวนเชื่อประเภทหนึ่ง โดยเป็นศิลปกรรมที่สร้างขึ้นและเผยแพร่โดยรัฐ มีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าต้องปลูกฝังความคิดความเชื่ออะไรบางอย่าง โดยเฉพาะระบอบใหม่ที่เพิ่งเข้ามา โดยแง่ของส่วนหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสถาปนาระบอบคุณค่าอะไรบางอย่าง ศิลปกรรมเหล่านี้จึงเป็นของที่จะทำให้หมดความชอบธรรมเมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจไป ทั้งนี้ การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์หรือเชิงศิลปะจึงมีบทบาทตรงนี้ว่าการกระทำเหล่านี้สามารถสื่อความหมายอะไรได้บ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image