วัฒนา ซัด รบ.คสช. ทำ ‘ทักษิณ’ หมดสิทธิฟ้องกลับ พวกเบิกความเท็จ คดีปล่อยกู้กรุงไทย

‘วัฒนา’ ร่ายยาวมหากาพย์คดีกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดานคร ชี้ ‘ทักษิณ’ ฟ้องกลับ พวกเบิกความเท็จไม่ได้ เพราะรบ.คสช. แก้ป.วิอาญา คนหนีคดีไม่มีสิทธิเป็นโจยท์ยื่นฟ้องกลับ

กรณีที่มีคำพิพากษาศาลฎีกายกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ในคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต วงเงินกว่า 9 พันล้านบาท เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอรับฟังได้ว่าเป็น ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ที่สั่งการให้ปล่อยสินเชื่อดังกล่าว

ย้อนอ่าน : ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องทักษิณ สั่งกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดามหานคร

วันนี้ (30 ส.ค.) นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟสบุ๊ก ถึงกรณีดังกล่าว ใจความว่า

Advertisement

“วันนี้ ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษายกฟ้องนายกทักษิณในคดีที่ คตส. กล่าวหาว่าท่านเป็นซุปเปอร์บอสหรือบิ๊กบอสสั่งให้กรรมการสินเชื่อธนาคารกรุงไทยอนุมัติเงินกู้ให้กับบริษัทในเครือกฤษดามหานคร โดยมีนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน กรรมการสองคนที่ร่วมอนุมัติด้วยแต่ไม่ถูกฟ้องแถมยังได้ดิบได้ดีในรัฐบาล คสช. และรัฐบาลนี้เป็นผู้กล่าวหา ส่วนกรรมการอื่นอีกสามคนที่ร่วมอนุมัติถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดทั้งหมด

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มีอยู่ว่า เมื่อปลายปี 2546 บริษัทเครือกฤษดามหานคร ซึ่งเป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพจำนวน 14,315.58 ล้านบาท ได้ขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทยเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้ธนาคารกรุงเทพ (รีไฟแนนซ์) โดยอ้างว่าธนาคารกรุงเทพยอมลดหนี้ลงเหลือ 9,400 ล้านบาท จากนั้นวันที่ 4 ธันวาคม 2546 คณะกรรมการสินเชื่อกรุงไทยได้อนุมัติสินเชื่อให้จำนวน 9,900 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินใช้หนี้ธนาคารกรุงเทพ 9,400 ล้านบาทและซื้อที่ดินเพิ่มอีก 500 ล้านบาท

ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม เครือกฤษดาขอปรับแผนการใช้เงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 9,900 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินใช้หนี้ธนาคารกรุงเทพ 8,000 ล้านบาท (เดิมอนุมัติ 9,400 ล้านบาท) ซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และค่าพัฒนาที่ดิน 1,400 ล้านบาท ในการขอปรับวงเงินครั้งนี้คำว่าบิ๊กบอสเพิ่งถูกนำมาอ้างเพื่อขอให้กรรมการอนุมัติการขอปรับแผนการใช้เงิน ส่วนการอนุมัติสินเชื่อจำนวน 9,900 ล้านได้อนุมัติเสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2546 แล้วโดยคณะกรรมการสินเชื่อทั้ง 5 คนเป็นผู้อนุมัติ

Advertisement

ประเด็นที่ คตส. เห็นว่ามีการทุจริต คือ (1) วงเงินรีไฟแนนซ์ที่ธนาคารกรุงเทพลดหนี้ให้คือ 4,500 ล้านบาท ไม่ใช่ 9,400 ล้านบาทตามที่ลูกหนี้อ้าง (2) ลูกหนี้ขอปรับวงเงินรีไฟแนนซ์ลงเหลือ 8,000 ล้าน แต่ธนาคารกรุงไทยกลับไม่ตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ (3) การจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้ธนาคารกรุงเทพที่ควรจ่ายตรงเป็นเช็คฉบับเดียว 8,000 ล้านบาท แต่กลับแบ่งการจ่ายออกเป็น 11 ฉบับ ทำให้ลูกหนี้สามารถนำส่วนต่าง 3,500 ล้านบาท ไปใช้นอกวัตถุประสงค์ของการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว

สำหรับผมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ (1) หากธนาคารกรุงเทพไม่ลดหนี้ให้ลูกหนี้รายนี้อย่างมโหฬาร จาก 14,315.58 ล้านบาทเหลือเพียง 4,500 ล้านบาท หรือลดลง 9,815.58 ล้านบาท เหลือหนี้เพียง 31% ธุรกรรมรายนี้จะเกิดไม่ได้ (2) ธนาคารกรุงไทยมีส่วนรู้เห็นด้วยดูจากการไม่ตรวจสอบวงเงินรีไฟแนนซ์และจ่ายเช็คให้ถึง 11 ฉบับ (3) ในขณะเกิดเหตุประธานของเครือกฤษดามหานครคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานของธนาคารกรุงไทยคือพลเอกมงคล อัมพรพิสิษฐ์ และประธานของธนาคารกรุงเทพคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (4) นายกทักษิณถูกลากเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะนายชัยณรงค์และนายอุตตมเป็นผู้กล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ทั้งที่การอนุมัติสินเชื่อจำนวน 9,900 ล้านบาทเสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม แล้ว (5) ลูกชายคนเดียวของนายกทักษิณคือนายพานทองแท้หรือโอ๊คเลยถูกดีเอสไอลากเข้ามาเป็นตัวประกันด้วย โดยอ้างว่าเช็คจำนวน 10 ล้านบาทได้รับมาเป็นเงินค่าปากถุงจากการที่พ่อเป็นบิ๊กบอสสั่งให้อนุมัติเงินกู้รายนี้ จึงถูกฟ้องเป็นคดีฟอกเงินขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริต

ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงโดยสรุปที่ทุกท่านคงพอมองเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วใครคือบิ๊กบอสที่อยู่เบื้องหลังการที่ธนาคารกรุงเทพลดหนี้ให้กับลูกหนี้รายนี้เกือบ 10,000 ล้านบาท ใครอยู่เบื้องหลังการที่ธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อจำนวน 9,900 ล้านบาทให้ลูกหนี้รายนี้ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2546 (ส่วนนายกทักษิณเพิ่งถูกอ้างเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม) เหตุใดธนาคารกรุงไทยจึงไม่ตรวจสอบวงเงินรีไฟแนนซ์จากธนาคารกรุงเทพ และเหตุใดธนาคารกรุงไทยจึงจ่ายเช็คให้ถึง 11 ใบ ทำให้ลูกหนี้เอาเงินส่วนต่างจำนวน 3,500 ล้านบาทไปใช้นอกวัตถุประสงค์ได้ สุดท้ายคือคนเกือบ 150 คน ที่ได้รับเงินจากส่วนต่าง 3,500 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงพลเอกและพลเรือเอกล้วนถูกดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องทั้งหมดยกเว้นนายพานทองแท้ที่ได้รับเช็คมา 10 ล้านจากการลงทุนร่วมกันและคืนเงินให้แล้วกลับถูกฟ้องเพียงคนเดียว โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562

ส่วนคำตอบว่า เหตุใดนายกทักษิณจึงไม่ฟ้องกลับคนที่กล่าวหาท่านว่า เบิกความเท็จนั้น คำตอบคือรัฐบาล คสช. ได้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเพิ่มมาตรา 161/1 ห้ามผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาเป็นโจทก์ฟ้องคดี จึงทำให้นายกทักษิณ หรือนายกยิ่งลักษณ์ที่ไม่มาศาลตามหมายเรียกไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ฟ้องคนที่กระทำความผิดต่อท่านไปด้วย คนที่กล่าวหาท่านเลยลอยตัวได้ดิบได้ดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรฐานจริยธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยอดีตประธานเครือกฤษดามหานคร เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image