อดีตอ.เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ท้า สมชาย-สมเจตน์ ดีเบต ปม อนาคตใหม่กู้เงินไม่ได้

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. รศ.ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยอาวุโส โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Pairoj Vongvipanond กล่าวแสดงความเห็นกรณี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีต สนช. และ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ออกมาให้ความเห็นเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ระบุเรื่องการให้เงินกู้ยืมแก่พรรคอนาคตใหม่ พร้อมชี้ว่า น่าจะเป็นหลักฐานเอาผิด ถือว่าเป็นการจบอนาคต มีความผิดถึงขั้นยุบพรรคได้ โดยรศ.ดร.ไพโรจน์ ระบุว่า

“ขอท้าพลเอกสมเจตน์ สมชาย แสวงการ ดีเบท อนาคตใหม่กู้เงินไม่ได้”

ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.ไพโรจน์ เขียนบทความเรื่อง “พรรคการเมืองกู้เงินได้หรือไม่ ”  โดย ระบุว่า

ที่ผมพบในต่างประเทศและเชื่อว่า ถ้าค้นหาให้กว้างขวางน่าจะมีพรรคการเมืองกู้เงินเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองไม่น้อย ในกรณีของกรีซมีช่วงที่เงินบริจาคลดน้อยลงเพราะดูเหมือนประชาธิปไตยอยู่ในช่วงขาลง พรรคการเมืองต้องพึ่งเงินกองทุนจากรัฐมากขึ้น พรรคการเมืองในกรีซปรับตัวด้วยการกู้ยืมจากธนาคารและชำระคืนเมื่อได้รับเงินจากเงินกองทุนของรัฐบาล เป็น bridging finance

Advertisement

ผมไม่ได้เรียนมาทางกฎหมายแต่เคยสนใจนิติเศรษฐศาสตร์ เคยวิจัยให้ศาลล้มละลายกลางอยู่หลายปีหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ผมอาจจะต่างกับนักกฎหมายที่ให้ความเห็นในสื่อดูเหมือนว่า พรรคการเมืองไทยจะกู้เงินเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้ นักกฎหมายพุ่งประเด็นไปที่รายได้ กฎหมายใช้คำว่า “พรรคการเมืองอาจมีรายได้” ซึ่งโดยนัยยะอาจจะมีจากแหล่งอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้รวมเงินกู้ (ม.62) แต่รวมเงินทุนประเดิมหนึ่งล้านบาทและรายการอื่น ๆ ที่สำคัญ คือ เงินบำรุงพรรค การขายสินค้าและบริการ เงินที่ได้จากการจัดกิจกรรมเพื่อการระดมทุน (แต่ไม่มีรายละเอียดว่าการระดมทุนนี้หมายถึงอะไร) การบริจาค เงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาการเมือง สุดท้ายคือผลประโยชน์จากทรัพย์สินของพรรคการเมือง

ถ้าเราดูโครงสร้างของกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมือง ผมคิดว่าถ้ากฎหมายมีเจตนาไม่ให้พรรคการเมืองกู้เงินมาทำกิจกรรมทางการเมือง การเขียนกฎหมายมีช่องโหว่ที่สำคัญเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ในหมวดที่ไม่ใช่เรื่องรายได้และการบริหารรายได้ กฎหมายไม่ได้มีข้อจำกัดใด ๆ เลย เรื่องที่มาของทรัพย์สินและหนี้สิน กฎหมายไม่ได้ให้ความสนใจกับความมั่นคงทางการเงินของพรรคการเมืองจึงมิได้มีข้อกำหนดเรื่องระดับหรือภาระหนี้สิน ถ้าพรรคการเมืองบริหารจนมีเงินทุนติดลบ (หนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน) ก็เป็นเรื่องของพรรคการเมือง แม้จะต้องอยู่ในสถานภาพหมิ่นเหม่ต่อการล้มละลาย ถ้าเจ้าหนี้มีการฟ้องร้องและพรรคการเมืองไม่มีสินทรัพย์พอที่จะชำระ

ผมเข้าใจว่า เจตนารมย์ของกฎหมายมุ่งไปที่แหล่งรายได้ (ภาษาวิชาการรายได้เป็น flow) ที่ไม่ต้องการให้มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาครอบงำทางการเงินโดยการบริจาคให้เปล่า ซึ่งต้องไม่เกินรายละสิบล้านบาทต่อปี แต่ในประเด็นนี้ผู้ร่างกฎหมายไม่ใส่ใจหรือไม่สนใจดูแลเรื่องลักษณะของทรัพย์สินและหนี้สินและทุน และอยู่ในงบดุล (ซึ่งตัวแปรเป็น stock หรือข้อมูล ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง) ผู้ร่างกฎหมายลืมไปว่า การที่พรรคการเมืองก่อหนี้ได้หรือมีหนี้สินได้ ก็คือการเกิดขึ้นของลูกหนี้และเจ้าหนี้ มีการกู้ยืมเงินเกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็นการกู้ยืมเงินโดยตรง เช่น พรรคการเมืองอาจจะก่อหนี้โดยการค้างจ่ายของที่ซื้อมา ค่าเช่าหรือเงินเดือนที่ค้างจ่าย ค่าบริการโรงแรม ค่าบริการวิจัยที่ค้างจ่าย เป็นต้น ปรากฎเป็นหนี้สินของงบดุล

Advertisement

ที่สำคัญมากหมวดว่าด้วยการใช้จ่ายของพรรคการเมือง มาตรา 87 กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า พรรคการเมืองสามารถ “ใช้จ่ายเงิน เพื่อกิจกรรมทางการเมืองจากเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมือง” ทรัพย์สินนี้ย่อมมีที่มาได้หลายทาง เช่น การบริจาคที่เป็นเงินหรือวัตถุ หรือมีรายได้เหนือรายจ่ายประจำปี แต่ในทางเศรษฐศาสตร์หรือทางการเงิน การก่อหนี้ของพรรคการเมือง (เช่น ในกรณีกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่) ในเวลาเดียวกันก็เป็นการสร้างสินทรัพย์ในงบดุลของพรรคเหมือนกิจการของวิสาหกิจทั่ว ๆ ไป debt create asset เพราะ หลักง่าย ๆ สินทรัพย์เท่ากับหนี้บวกทุน (asset = debt + equity) พรรคการเมืองมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเมื่อมีเงินกู้ คือมีเงินสดหรือเงินให้กู้ในเวลาต่อมา หรือสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่พรรคมีต่อ ส.ส. หรือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนที่ต้องชำระคืน โดยเฉพาะเมื่อได้รับเลือกตั้ง ความสำเร็จหรือความเสี่ยงของพรรคในการกู้เงินขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส. ที่พรรคชนะเลือกตั้ง รวมทั้งชื่อเสียงที่ตามมาซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการระดมทุนในอนาคต เจตนารมย์ของกฎหมายรวมทั้งหลักเศรษฐศาสตร์และบัญชี ไม่ควรถือว่าเงินกู้เป็นรายได้ เพราะในกฎหมายรวมเงินทุนเป็นรายได้ ดังนั้น คำว่ารายได้ในกฎหมายนี้มันคล้ายกับเป็นแหล่งเงิน (source of fund) จริง ๆ แล้วรายได้ในทางบัญชีหรือเศรษฐศาสตร์มันจะเป็น รายรับลบต้นทุน รายได้สุทธิก็คือกำไร ในทางเศรษฐศาสตร์มหภาค บัญชีรายได้ประชาชาติ รายได้คือมูลค่าเพิ่ม (value added) ซึ่งก็คือ รายรับจากการขายลบวัตถุดิบที่ซื้อมา

โดยสรุป แม้เจตนาของกฎหมายอาจจะไม่ได้ต้องการให้พรรคการเมืองกู้เงินมาใช้ในกิจกรรมการเลือกตั้งเหมือนที่พรรคอนาคตใหม่ทำ แต่ดูเหมือนกฎหมายมีช่องโหว่ในส่วนของการบริหารหนี้และสินทรัพย์ให้ทำอะไรก็ได้ โดยส่วนตัวผมจึงคิดว่า พรรคการเมืองไทยก็เหมือนของกรีซ ถ้าอยากกู้ก็กู้ได้ ถ้ามีคนอยากให้กู้และพร้อมจะรับความเสี่ยง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image