‘7 พรรคฝ่ายค้าน’ เปิดเวทีปัตตานี รณรงค์แก้ รธน.60 ขอช่วยกันดันแก้ไขอีกครั้ง

‘7 พรรคฝ่ายค้าน’ เปิดเวทีปัตตานีรณรงค์แก้ รธน. รุมชม 3 จังหวัดชายแดนใต้ตื่นตัวสุด โหวตไม่รับ รธน.60 ตั้งแต่ต้น ขอ ช่วยกันดันให้มีการแก้ไข รธน.อีกครั้ง

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ลานวัฒนธรรม หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี 7 พรรคฝ่ายค้านจัดเวทีรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญสัญจร ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” โดยมีประชาชนเข้าร่วมรับฟังการเสวนากว่า 1,000 คน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ประธานคณะกรรมการประสานงาน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า ปกติประชาชนจะเมินเฉยต่อการบัญญัติกฎหมาย แล้วปล่อยให้การบัญญัติกฎหมายอยู่ในอุ้งมือของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งการรัฐประหารที่ผ่านมาเรามีกฎหมายออกมากว่า 400 ฉบับ แทนที่กฎหมายจะออกมาเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่กลับเป็นการออกมาเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้มีอำนาจ และให้ประโยชน์ต่อคนกลุ่มนั้น ตามประวัติศาสตร์ สังคมใดสามารถบังคับให้คนทำตามได้ทุกเมื่อ ทุกโอกาส สังคมนั้นคือการกดขี่ การจะสร้างสันติสุขสังคมต้องมีความเข้าใจ ต้องมีพลวัต เราจะไม่ใช้เลือดของนักรบ แต่เราจะใช้หยดหมึกของนักปราชญ์มาสร้างรัฐธรรมนูญที่สร้างสันติสุข

อ่านข่าว : ‘วันนอร์’ถามปชช.‘รธน.’ หรือ ‘บิ๊กตู่’อะไรคือปัญหาปท. จี้นายกฯเสียสละลาออกปลดล็อก

Advertisement

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พวกเราทั้ง 7 พรรคอยากเสาะหาข้อมูล ความคิดความอ่าน และปัญหาของพี่น้องประชาชนเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง ตั้งแต่ที่เรามีการเลือกตั้งเป็นต้นมา ได้ผู้แทนราษฎร แต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ได้เอื้อให้เราทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนได้เลย นี่คือความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมา ทั้งนี้ เรื่องรัฐธรรมนูญ เราจำเป็นต้องหาคนออกมาพูด มาบอกกล่าว เราต้องมั่นคง และหาแนวทางในการแก้ไข อย่างพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แสดงความจำนงในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 60 แบบเททั้ง 3 จังหวัด เราเองเสียอีกที่กลับเป็นคนมีความรู้สึกช้า และไม่สามารถอธิบายถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญได้แบบที่ผู้ใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เพราะขณะนั้นมีทั้งกฎอัยการศึก และมีทั้งกฎต่างๆ ซึ่งเราไม่สามารถทำอะไรได้เลยสำหรับการรณรงค์ หรือการจัดเวทีดีเบตเรื่องรัฐธรรมนูญในพื้นที่ต่างๆ รัฐบาลและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหาเสียงอยู่ฝ่ายเดียว แต่ก็ได้คะแนนเสียงมาเพียง 15 ล้านกว่าเท่านั้น จากนี้ผมจึงอยากฝากพวกท่านในฐานะแม่บทในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผลักดันให้รัฐบาลมีแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป


นางชลิตา บัณฑุวงศ์
อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า พอทราบผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 รู้สึกภาคภูมิใจในตัวพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้เราจะมาช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ตอนนี้พวกเราได้ตั้งเครือข่ายคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) โดยจะเคลื่อนไหวให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะรัฐธรรมนูญ 60 ไม่เห็นหัวประชาชน ให้อำนาจองค์กรอิสระมากมาย จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

“ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากเน้นว่า ความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาอย่างได้ผล เพราะเอื้อต่อการสร้างการมีส่วนร่วม การคุ้มครองเสรีภาพ ฉะนั้น ภายใต้ระบอบ คสช. สถานการณ์ชายแดนใต้ไม่มีทางดีขึ้น และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ ทั้งนี้ สาเหตุหลักเป็นผลพวงของความรู้สึกถึงความไม่ชอบธรรม ความคับข้องของคนที่รู้สึกว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง การใช้กฎหมายพิเศษของรัฐ รวมถึงเรื่องแนวคิดและอุดมการณ์เรื่องการแบ่งแยกดินแดน และต้องการอิสรภาพ ทั้งหมดมีความเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ ทั้งปัญหาทางสังคม ความยากจน การแบ่งแยกระหว่างผู้คน ซึ่งความไม่สงบทำให้ปัญหาเหล่านี้มีความรุนแรงมากขึ้น โดยที่รัฐมีแนวทางแก้ปัญหา คือ 1.การใช้กำลังทหารและตำรวจ ในการรักษาความมั่นคง 2.การพัฒนาพื้นที่คุณภาพชีวิต และ 3.การส่งเสริมทางสังคมวัฒนธรรม เราพบว่าแนวทางดังกล่าวมีปัญหามาก ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของกองทัพ ซึ่งอันที่จริงไม่ควรเป็นงานด้านความมั่นคง แต่ทหารกลับมามีอำนาจและมีบทบาทในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาของประเทศไทยอาจไม่ต้องอยู่กันเป็นรัฐเดี่ยวหรือรวมศูนย์ก็ได้ การแก้รัฐธรรมนูญอาจแก้มาตรา 1 ด้วยก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร” นางชลิตากล่าว

ย้อนอ่าน : 28 เครือข่ายจับมือตั้ง ครช. ศึกษาสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า แม้นายกฯจะพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่บริหารงาน จนได้รัฐธรรมนูญ 60 มา กลับบิดเบือนเจตนารมณ์ประชาชน จนได้นายกฯคนเดิม โดยการใช้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งมาร่วมเลือกนายกฯด้วย ทั้งนี้ การที่เราอยู่ร่วมกันแล้วมีความขัดแย้งเกิดจากเพราะเราไม่ได้รับความเป็นธรรม คนทำดีอยู่ไม่ได้ แต่คนที่ทำไม่ถูก หรือทำผิดกฎหมายกลับอยู่ได้ นี่คือสิ่งที่เราคาใจ และแม้บ้านเมืองจะสงบ ก็ไม่ได้สงบเพราะมีความสงบ แต่สงบเพราะเรากลัว กลัวที่จะถูกกฎหมายมาบังคับใช้กับเรา ในขณะที่ฝั่งเดียวกันกับเขา ไม่ว่าจะทำผิดอย่างไรก็ไม่ถูกนำไปลงโทษ องค์กรอิสระก็ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่เหนือองค์กรเหล่านี้ ดังนั้น เราจะทำอย่างไรก็ได้ให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน ให้อำนาจประชาชนให้ได้

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้แก้เพื่อ 7 พรรคฝ่ายค้าน แต่เป็นการแก้เพื่อประชาชนทุกคน โดยประชาชนต้องเป็นผู้มาแก้ 7 พรรคฝ่ายค้านเราเป็นเพียงผู้จุดชนวนในการแก้ไขให้เท่านั้น แต่การจะแก้ตรงไหน จุดไหน เป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย เพราะทุกคนมีสิทธิ และมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ประชาชนชน และท่านทั้งหลายต้องส่งตัวแทนเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเองพยายามพูดให้คนเข้าใจผิดว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดี ให้มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน ก็แล้วท่านอยู่มา 5-6 ปี ทำไมท่านไม่คิดแก้ นอกจากนี้หน้าที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เราในสภาผู้แทนราษฎรในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ออกกฎหมาย ดังนั้น ขอพี่น้องประชาชนอย่างหลงทางไปกับสิ่งที่รัฐบาลบอก


นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ผมขอเริ่มจากอะไรที่จับต้องได้ และทุกท่านเกี่ยวข้อง นั่นคือ การลงทะเบียนซิมโทรศัพท์ 2 แชะ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 36 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร ระหว่างกัน การกระทำใดๆ ที่ทำให้ล่วงรู้ หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทำมิได้ และเพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพตามมาตรา 36 ในมาตรา 26 ก็ระบุให้การคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ให้สัมภาษณ์ว่า การลงทะเบียน 2 แชะไม่ผิดกฎหมาย เพราะจะลงหรือไม่ลงก็ได้ แต่ถ้าไม่ลงโทรศัพท์จะใช้การไม่ได้ ซิมการ์ดจะใช้ไม่ได้ นี่คือการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน นี่คือการบีบบังคับให้ต้องทำ ปัญหาคือทำไมประเทศไทยมีกลุ่มบุคคลหนึ่งที่สามารถทำอะไรที่ขัดรัฐธรรมนูญ หรือขัดกฎหมายแล้วไม่ถูกลงโทษ หรือถูกดำเนินการกฎหมาย ถ้าเป็นพวกเราออกมาทำแบบนี้บ้างป่านนี้ติดคุกไปแล้ว

ย้อนอ่าน : สกู๊ป น.1 : ตีทะเบียนซิมการ์ด 2 แชะอัตลักษณ์ ป้องกันไฟใต้

นายธนาธรกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจกับกลุ่มบุคคลหนึ่งพิเศษ อยู่เหนือกฎหมาย เหนือรัฐธรรมนูญ และปฏิเสธการรับผิดชอบใดๆ 15 ปีที่ผ่านมามีประชาชนกว่า 4,000 คน เสียชีวิตจากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บาดเจ็บอีกกว่าหมื่นคน จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เราไม่เห็นสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น หลายท่านบอกว่ายะลา ปัตตานี และนราธิวาสมีความพิเศษ อยากให้มีการปกครองแบบพิเศษ ผมคิดว่าทุกที่ ทุกจังหวัดมีความพิเศษ แต่ละที่มีความสวยงาม มีความหลากหลาย มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง แต่รัฐที่แข็งทื่ออย่างรัฐไทย พยายามเอากฎกติกา ความคิด ความเชื่อแบบเดียวกันบีบบังคับให้คนต้องเชื่อ ศรัทธา และปฏิบัติในแบบเดียวกันทั้งประเทศ และนี่คือต้นตอของปัญหา นอกจากนี้ งบประมาณในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 15 ปีที่ผ่านมากว่า 3 แสนล้านบาท ลองคิดดูว่าหากเรานำงบประมานจำนวนนี้มาพัฒนาโรงเรียน พัฒนาการคมนาคม เกิดโรงงานแปรรูปยางพารา หรืออาหารฮาลาล ฯลฯ ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะแก้ปัญหาความรุนแรงได้ดีขึ้นไม่ เอามาให้ผมหรือ 7 พรรคฝ่ายค้าน จะสามารถพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปไกลกว่านี้ได้อย่างแน่นอน วันนี้ไม่มีพลวัตในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่มีการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารปี 57 มีแต่การใช้มาตรการด้านความมั่นคง มีแต่การใช้มาตรการทางด้านการทหารเข้ามาจัดการปัญหา มองประชาชนเป็นศัตรู คิดอย่างเดียวคือการปราบปรามให้สิ้นซาก ตราบใดที่ยังไม่มีความเป็นธรรม ย่อมไม่มีสันติภาพ ที่ใดยังมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้


“ดังนั้น ถ้ายังมองประชาชนเป็นศัตรู เราจะไม่มีทางแก้ปัญหาได้ นักเคลื่อนไหวหลายคนเสียชีวิต ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดถูกดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมเลย นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งประเทศไทย ดังนั้น ถ้าไม่มีความเป็นธรรม หรือคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน ใช้แต่อำนาจทางทหาร ใช้แต่มาตรการความมั่นคงแก้ปัญหาไม่ได้ สิ่งที่ขาดหายไปคือกระบวนการสันติภาพ เราต้องกลับมาคิดใหม่ว่าแก่นกลางของการแก้ปัญหาต้องใช้มาตรการทางการทูต มาตรการทางการเมือง และมาตรการทางเศรษฐกิจเป็นตัวสนับสนุน แล้วเอามาตรการทางความมั่นคงดูแลความเรียบร้อยรอบนอก ไม่ใช่เอามาตรการทางความมั่นคงเป็นแกนกลางในการแก้ปัญหา แต่เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เลยถ้าปัญหาเรื่องโครงสร้างอำนาจในสังคมไทยยังไม่ถูกแก้ไขว่าใครเป็นเจ้าของอำนาจ เราไม่มีอำนาจในการกำหนดอนาคตของเราเอง อำนาจทุกอย่างถูกนำไปกองไว้ที่กรุงเทพฯ และธรรมนูญฉบับนี้คือรัฐธรรมนูญที่กุมอำนาจไว้ที่กองทัพ ใช้ความมั่นคงกดขี่พี่น้องประชาชนทุกจังหวัด

“นี่คือรัฐธรรมนูญที่ออกหัว พล.อ.ประยุทธ์ชนะ ออกก้อยประชาชนแพ้ เขาไม่มีทางแพ้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วันนี้ประเทศไทยไม่มีกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด คือข้อตกลงของพี่น้องประชาชนว่าสังคมไทยเราอยากจะอยู่ร่วมกันแบบไหน อยากอยู่ภายใต้กฎกติกาแบบใด กฎที่ผู้แพ้ก็สู้กันไปตามกติกา ในขณะที่ผู้ชนะก็ไม่บี้ผู้แพ้ให้สิ้นซาก เราต้องมีกติกาที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ภายใต้แนวคิดที่หลากหลาย เราต้องการกรรณิการ์แบบนั้น ซึ่งวันนี้เราไม่มี สิ่งนี้จะทำให้สังคมไทยไปสู่ทางตัน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมาคิดทบทวนว่าประเทศไทยแบบไหน สังคมไทยแบบไหนที่เราต้องการอยู่ร่วมกัน และกฎกติกาแบบไหนที่ทุกฝ่ายจะยอมรับร่วมกัน เราไม่ได้เรียกร้องให้ประชาชนทั้งประเทศคิดเห็นไปในทางเดียวกันหมด เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่เราบอกว่า อย่างน้อยที่สุดเรามาเคารพกติกาเดียวกัน ซึ่งยังไม่สายเกินไป ถ้าวันนี้เราไม่แก้ รัฐกับสังคมจะเดินไปสู่ทางตัน การแก้รัฐธรรมนูญเป็นทางออกทางเดียวที่เหลืออยู่ในสังคมไทย และนี่คือเหตุผลที่พวกเรามาที่นี่เพื่อมาเรียกร้องและเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนร่วมกัน และตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยกัน” นายธนาธรกล่าว

ด้าน นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ปาฐกถาพิเศษ “พลวัตบนเส้นทางดับไฟใต้” ระบุว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ ในอดีตเป็นการเจรจาในขอบเขตพลเมืองของรัฐ เป็นความพยายามสร้างความเข้าใจกัน แต่เมื่อมีการปฏิวัติ รัฐประหาร ระบอบประชาธิปไตยไทยก็เข้าสู่วังวนที่หาทางออกไม่ได้มายาวนานกว่า 70 ปี กระทั่งความพยายามหาทางดับไฟใต้เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขา สมช. เปิดการเจรจาหาทางออก แต่จนถึงตอนนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ ทั้งนี้ นโยบายและวิธีการที่รัฐบาลใช้คือการใช้การทหารนำการเมือง ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะการแก้ปัญหาต้องมีเอกภาพ ความหลากหลายของผู้คนต้องให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ความสงบสุขในชาติจึงจะทำให้รัฐบาลมั่นคงได้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไปจินตนาการให้ชาติเป็นไปตามที่รัฐต้องการ ทั้งนี้ เกือบทุกประเทศใช้ระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะเป็นระบอบที่การปกครองมาจากการยอมรับของผู้ถูกปกครอง เป็นการยอมรับที่เกิดจากการที่เขาได้เลือก หากเราให้ระบอบประชาธิปไตยนำทางเพื่อก้าวเดินต่อไป รากฐานของความเป็นชาติจะได้รับการสานต่อจะมั่นคงขึ้นที่ละด้าน ซึ่งต้องใช้เวลา ใช้พื้นที่ และความอดทนที่มีเหตุผลไม่ใช่ความเชื่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image