‘เนติวิทย์’ ย้อนเล่าวัย 14 ครั้งครูบอก ‘คนเสื้อแดงหนักแผ่นดิน’ ชี้สลายชุมนุมกลายเป็น ปวศ.ชาติ

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ข้อเขียนผ่านเพจ “ยูดีดีนิวส์ UDD news” เรื่อง “เมษา-พฤษภา 53 และคนเสื้อแดง” บอกเล่าประสบการณ์ของตนต่อเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 14 ปี เนื้อหาตอนหนึ่งว่า

“ตอนนั้น ผมเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 2 ครูที่โรงเรียนบางคนก็เอาความไม่พอใจต่อคนเสื้อแดงมาพูดในห้องเรียน เรียกพวกเขาว่า พวกเผาบ้านเผาเมือง คนหนักแผ่นดิน แม้จะมีครูบางคนที่ใจรักความเป็นธรรมให้กับคนเสื้อแดง แต่วาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง แพร่หลายมากกว่าจะแก้ต่างได้ ทั้งในที่บ้านและในโรงเรียน

ผมเองยังไม่ประสีประสากับการเมืองสักเท่าไหร่ในเวลานั้น เพิ่งสนใจก็ว่าได้ และด้วยความรักษาตัวรอดเป็นยอดดียังไม่แกร่งกล้าพอ เมื่ออ่านหนังสือนอกตำรา ซึ่งบางครั้งทำให้ได้ความเห็นไม่เหมือนกับในห้องเรียนที่ครูสอน ก็มักจะเอาไปโต้แย้งกับครู ผมยังทำหนังสือขึ้นมาเล่นๆ ในห้องเรียนด้วย มาภายหลังผ่านไปหลายเดือนแล้ว ผมจึงรับรู้ว่าผมเองก็ถูกมองว่าเป็น ‘คนเสื้อแดง’ ด้วยเช่นกัน ทั้งที่ผมยังไม่รู้เลยว่า ‘คนเสื้อแดง’ มีความหมายลบขนาดไหนในตอนนั้น

นี่ไม่ได้มาจากแค่ที่ครูประจำชั้นในตอนนั้นให้เพื่อนผมคนหนึ่งมาตีสนิทกับผมและรายงานให้ครูทราบว่าผมมีทัศนคติทางการเมืองอย่างไร แต่ระดับผู้อำนวยการก็ยังส่งคนไปสืบว่าบ้านผมอยู่ไหน และครอบครัวมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร

Advertisement

……การถูกแปะป้ายเป็น ‘คนเสื้อแดง’ แทนคนคิดเห็นแตกต่างจากคนอื่น ทำงานได้ผลได้ดี ชีวิตในโรงเรียนผมไม่เคยสงบอีกเลย ผมกลายเป็นคนที่ครูและนักเรียนล้วนระวังตัว เหมือนกลัวจะถูกแพร่เชื้อ และแม้อาจจะไม่เคยคุยกันเลย แต่แค่ได้ยินชื่อผมก็อคติกับผมไปแล้ว”

นายเนติวิทย์ยังระบุด้วยว่า ตนเริ่มรู้จักคนเสื้อแดงจริงๆ และได้ไปร่วมงานชุมนุมด้วย คือหลังจากได้ไปฟังปาฐกถาที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ และงานเสวนาวิชาการต่างๆ แรกสุดก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า ทำไมกลุ่มคนเหล่านี้ที่ถูกนำเสนอว่าไม่มีการศึกษา ถูกหลอก ถึงมากันเต็มงานเสวนา แทนที่จะมีนักศึกษาจำนวนมาก กลับเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ป้าๆ ลุงๆ ที่มาฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ และตอนช่วงถามตอบ คำถามที่พวกเขาถามมักสะท้อนความไม่เป็นธรรมทางสังคม หรือเป็นในลักษณะเชิงผิดหวังและอยากหาทางออกจากสังคมที่อยุติธรรม

“คำว่าคนเสื้อแดงถูกหลอก น่าจะเป็นพวกเรามากกว่าที่ถูกหลอก จนในที่สุดพวกเราก็เมินเฉยและชาชินกับสังคมอยุติธรรมให้คงอยู่ต่อไป หลังจากที่ได้ไปงานเสวนาอย่างบ่อยครั้ง ก็ได้เริ่มรู้จักพี่ๆ หลายคนที่เป็นเสื้อแดง เริ่มเรียนรู้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงนั้นคิดยังไง เขาเคลื่อนไหวอะไรกันบ้าง ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่า ขบวนการคนเสื้อแดงมีความหลากหลาย บางคนสนับสนุนทุนนิยม บางคนสนับสนุนสังคมนิยม เห็นแย้งเห็นต่างในแนวทางอยู่ แต่ก็ยังเรียกรวมกันว่าเป็นคนเสื้อแดง นี่เป็นอะไรที่ไปไกลกว่าความใจทั่วๆ ที่มองว่าขบวนการนี้เป็นขบวนการของแค่คนบางคนเท่านั้น เมื่อมองกลับไปยังในโรงเรียนหรือที่บ้านซึ่งอคติให้เราเกลียดกลัวการชุมนุมประท้วงและคนเสื้อแดง เราเริ่มเห็นว่าใครกันแน่ที่ไร้เหตุผลและโลกแคบ” นายเนติวิทย์กล่าว

Advertisement

นายเนติวิทย์กล่าวว่า เหตุการณ์เมษา-พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ตอนนั้นตนเพิ่งจะรับรู้การเมืองแล้ว แต่ตนก็สมควรจะต้องรู้สึกผิดไปอีกยาวนาน จากที่แม้คนเสื้อแดงจะเป็นคนร่วมชาติเดียวกัน แต่ความตระหนักต่อความตายของพวกเขากลับมีน้อยนิด ผมไม่ได้ตกใจและออกมาปกป้องในสิ่งที่ควรตกใจและปกป้อง ผมยังดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างปกติ โดยหารู้ไม่ว่า อีกไม่กี่เดือนถัดมาตนกลายเป็น “คนเสื้อแดง” ของโรงเรียนไปแล้ว

“จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านไปหลายปีแล้ว การมองย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์ทำให้เราเห็นอะไรที่กระจ่างชัดมากขึ้น สิ่งที่คนในเหตุการณ์ตอนนั้นเรียกร้องยังคงเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากมายเรียกร้องอยู่ในเวลานี้ เหตุการณ์เมษา-พฤษภาคม 2553 ไม่ได้เป็นความเจ็บปวดเฉพาะกลุ่มอีกแล้ว ตอนนี้มันได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ระดับชาติ เป็นภาพแทนการถูกกดขี่ของคนทั่วประเทศ ที่รอวันสะสางและในไม่ช้า วันนั้นย่อมมาถึง” นายเนติวิทย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image