ฮาทั้งวง! ‘ผศ.ดร.ประจักษ์’ ลั่นกลางเสวนา ‘แฟนหงส์แดง’ อดทนสูง รอแชมป์นาน 30 ปี แต่ ‘มาเลย์’ อดทนกว่า สู้เพื่อ ปชต. 60 ปี

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่มติชนอคาเดมี หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ มีการจัดงาน “เปิดโกดัง Book Wonder” เป็นวันแรก บรรยากาศทั่วไปมีผู้สนใจเข้าเลือกซื้อหนังสืออย่างคึกคัก โดยบางส่วนมารอตั้งแต่ก่อนเริ่มงานในเวลา 10.00 น. ซึ่งผู้จัดงานเตรียมมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าพื้นที่จัดงาน ให้บริการเจลล้างมือ รวมถึงมีการแจกบัตรคิวบริเวณจุดคัดกรอง โดยอนุญาตให้เข้าครั้งละ 50 คน ส่วนที่เหลือจัดจุดสำหรับนั่งรอ ซึ่งผู้ร่วมงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ภายในงานมีการจำหน่ายหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การเมือง การต่างประเทศ นิยาย เรื่องสั้น วรรณกรรมแปล และอีกมากมาย นอกจากนี้ ยังมีชุดหนังสือหายาก (Rare Item) ผลงาน ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชุดหนังสือหายากของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร, หนังสือในโปรโมชั่นพิเศษ ชุด 3 หนังสือการเมืองเล่มใหม่ ประจำเดือนมิถุนายน โดยลดราคาสูงสุดถึง 75% รวมถึงหนังสือราคาพิเศษเริ่มต้นที่ 10 บาท

ต่อมา เวลาประมาณ 12.30 น. ที่ร้านเบรนเวค ภายในอาคารมติชนอคาเดมี สำนักพิมพ์มติชนจัดเสวนา “ปฏิวัติสู่ประชา-ธิปไตย” เนื่องในการเปิดตัวหนังสือ ตามรอยอาทิตย์อุทัย แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร, ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร และ When We Vote ดำเนินรายการโดย ดร.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

(อ่าน เปิดตัว 3 เล่มเด่นการเมืองไทย-อาเซียน ชี้ รัฐประหาร 49 ทำ ‘สถาปัตย์คณะราษฎร’ สู่สปอตไลต์ เปิดโมเดลปฏิวัติผ่าน ‘คูหา’ ค้นปมสร้างชาติตามรอยอาทิตย์อุทัย)

Advertisement

ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้เขียน “When We Vote  พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน” กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ มาจากการพูดคุยกับนักวิชาการประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีความรู้ในการเมืองไทยดีมาก รู้จักตัวละคร นักการเมือง เสื้อเหลือง เสื้อแดง ทักษิณ และกองทัพ จนทำให้ตนรู้สึกทึ่ง ในขณะที่เมื่อคุยเรื่องการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน นักวิชาการไทยเงียบ

“เรารู้เรื่องการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านน้อย คนไทยอาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องรู้ แต่ในประเทศเพื่อนบ้านมีหนังสือภาษาอินโด มาเลย์ ฟิลิปปินส์ ที่เกี่ยวกับการเมืองไทยเยอะมาก ผมพยายามหาหนังสือการเมืองอาเซียนภาษาไทยพบว่าเล่มสุดท้ายที่เขียนในภาพรวมคือผลงานของอาจารย์สีดา สอนศรี และคณะ เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ผมเคยมีอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งบอกให้ไปอ่านการเมืองฟิลิปปินส์แล้วจะเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งจริง และหลายอย่างก็เทียบเคียงกับอินโดนีเซียและมาเลเซียได้ ช่วงก่อนปี 2540 มีการเทียบไทยกับฟิลิปปินส์ว่าเป็นคู่แฝดทางการเมือง กล่าวคือ มีระบบอุปถัมภ์แน่นหนา มีการซื้อเสียง พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่หลังการปฏิรูปการเมืองใน พ.ศ.2540 คนบอกว่าการเมืองไทยเป็นโมเดล นักวิชาการฟิลิปปินส์อิจฉาเราได้ 6-7 ปี แต่ตอนนี้ไม่อิจฉาแล้ว เพราะเราย้อนยุคไปก่อนปี’40 (หัวเราะ)”

ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 3 ประเทศนี้มีพลวัตน่าสนใจ มีแง่มุมที่นำมาเรียนรู้ได้ มาเลเซียน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเกิดสึนามิทางการเมือง มีการปฏิวัติผ่านคูหาเลือกตั้ง เป็นโมเดลที่น่าสนใจ คนคิดว่าการเมืองในระบบไม่มีน้ำยา แต่มาเลเซียชี้ให้เห็นว่าทำได้ ถ้าฝ่ายค้านผนึกภาคประชาสังคม

Advertisement

“หนังสือเล่มนี้ไม่ดูการเลือกตั้งแค่เทคนิควิธีการ แต่ดูพลวัตสังคม การเปลี่ยนแปลง ทำไมประชาธิปไตยมีพลวัต การเลือกตั้งก็เหมือนสนามแข่งขัน” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ยังกล่าวว่า ประชาชนชาวมาเลเซียสู้เพื่อประชาธิปไตย มีความอดทนมายาวนานกว่าแฟนลิเวอร์พูล กล่าวคือ แม้แฟนลิเวอร์พูลอดทน มีความภักดีต่อทีมของเราสูง 30 ปี หรือ 3 ทศวรรษ แต่มาเลเซียอดทนรอการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาอย่างยาวนานกว่า คือรอมานานถึง 60 ปี กว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองแบบพรรคเดียวผูกขาดได้ หรือถ้าไม่ต้องย้อนไป 60 ปี นับเฉพาะขบวนการที่มีการปฏิรูปทางการเมืองที่มีอันวาร์ อิบราฮิม มีคนรุ่นใหม่ที่มาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็เป็นเวลาประมาณ 20 ปี กว่าจะมาพลิกในการเลือกตั้งได้ เพราะฉะนั้น มันเป็นบทเรียนว่าเวลาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมที่มีการคุมอำนาจมาอย่างยาวนาน มันไม่สามารถเปลี่ยนได้ในเวลาอันสั้น เพราะต้องไปรื้อถอนหลายอย่าง ต้องใช้ความอดทน ซึ่งชาวมาเลเซียก็ทำสำเร็จ จนกระทั่งปีล่าสุด ในแง่ดัชนีเสรีภาพสื่อ กลายเป็นว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่เมื่อก่อนสถานการณ์เลวร้ายมากในด้านการปราบปราม ลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ พอเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจะเห็นว่าดัชนีหลายๆ อย่างดีขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image