เสวนา ‘เป็นประชารัฐ’  ชี้เด็กสู้เพื่ออนาคต ผุดสำนึกใหม่เป็น ‘พลเมืองโลก’

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เวลา 13.00 น. ที่มติชนอคาเดมี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดเสวนา ‘เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน ว่าด้วยชาติและลัทธิชาตินิยม’ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในฐานะกรรมการและเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กล่าวว่า งานเสวนาวันนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึง ศ. เบน แอนเดอร์สัน เจ้าของผลงาน ‘ชุมชนจินตกรรม’ ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองไทยสมัยใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ตนอยากทราบว่าหาก ศ.เบนยังมีชีวิตอยู่และได้สัมผัสกับแฟลชม็อบ, ม็อบมุ้งมิ้ง และม็อบตุ้งติ้ง จะมีความเห็นอย่างไรในวันที่เรามาถึงจุดซึ่งมีการหยิบเรื่องชาติขึ้นมาหาความหมาย มีการใช้วาทกรรมรักชาติ ชังชาติ (อ่านข่าว ‘ชาญวิทย์’ รำลึก ‘ศ.เบน แอนเดอร์สัน’ อยากรู้ถ้ายังมีชีวิตอยู่ถึง ‘ม็อบมุ้งมิ้ง-ตุ้งติ้ง’ จะคอมเม้นต์ว่าไง ?)

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่จำความได้ถูกปลูกฝังว่าชาติไทยยิ่งใหญ่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ชาติที่รู้จักก่อนอื่นคือชาติในเพลงชาติ ต้องรักชาติโดยไม่เคยตั้งคำถามใดๆ อย่างไรก็ตาม การค้นหาความหมายของคำว่าชาติในทางวิชาการเกิดขึ้นตอนเรียนกฎหมาย คำว่า ชาติ รัฐ และประเทศปรากฏในรัฐธรรมนูญทุกฉบับอย่างมากมาย โดยเฉพาะส่วนที่กล่าวถึงหน้าที่คนไทยว่าต้องพิทักษ์ชาติ แต่ไม่มีการให้นิยามกำกับ อย่างไรก็ตาม มีการอธิบายความหมายไว้ในตำราของปรมาจารย์รุ่นเก่า เช่น ผลงานของ ศ.หยุด แสงอุทัย สำหรับความหมายในพจนานุกรม หมายถึงประเทศ, ประชาชนของประเทศ และกลุ่มคนที่มีความรู้สึกเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน

ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง เจ้าของผลงานตามรอยอาทิตย์อุทัย : แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎรกล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การนำเพลงชาติมาเป็นเพลงต่อต้านรัฐบาลไม่เคยมีมาก่อน นักเรียนเรียกร้องสิทธิในความแตกต่าง เช่นประเด็นแอลจีบีที เสรีภาพในการแต่งกาย และทรงผม ซึ่งเป็นสำนึกใหม่ว่าพวกเขาเป็นพลเมืองโลก ไม่ใช่แค่พลเมืองไทย เป็นการเริ่มเรียกร้อง ‘ชาติของฉัน’

Advertisement

ผศ.ดร. ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ชาติในมุมมองของคนในวัยต่างๆ มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ชาติของคนอายุ 50-70 ปี เชื่อเรื่องชาติที่แล้ว ผูกพันกับยุคบ้านเมืองยังดี ส่วนรุ่นตน คือช่วงอายุ 30-40 ปี นึกถึงแต่ชาติหน้า เน้นออมเงินเพื่ออนาคตสุขสบาย ในขณะที่ชาติของคนรุ่นใหม่ คือชาตินี้

“เยาวชนปัจจุบันที่มีพลังซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ให้ความสำคัญกับชาตินี้ เขาคิดว่าอนาคตเสี่ยงเกินไปถ้าการเมืองไร่เสถียรภาพและความชอบธรรม เด็กบอกว่า ถ้าไม่สู้ตอนนี้ จะสู้ตอนไหน เขาไม่ได้สู้เพื่อพ่อแม่ แต่สู้เพื่ออนาคตตัวเอง หรือลูกหลานที่จะอยู่ในสังคมที่ดีขึ้น” ผศ.ดร.ลลิตากล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image