‘ชาญวิทย์’ รำลึก ‘ศ.เบน แอนเดอร์สัน’ อยากรู้ถ้ายังมีชีวิตอยู่ถึง ‘ม็อบมุ้งมิ้ง-ตุ้งติ้ง’ จะคอมเมนต์ว่าไง ?

‘ชาญวิทย์’ รำลึก ‘ศ.เบน แอนเดอร์สัน’ อยากรู้ถ้ายังมีชีวิตอยู่ถึง ‘ม็อบมุ้งมิ้ง-ตุ้งติ้ง’ จะคอมเม้นต์ว่าไง ?

 

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เวลา 13.00 น. ที่มติชนอคาเดมี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดเสวนา ‘เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน ว่าด้วยชาติและลัทธิชาตินิยม’ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก (อ่านข่าว เสวนา ‘เป็นประชารัฐ’  ชี้เด็กสู้เพื่ออนาคต ผุดสำนึกใหม่เป็น ‘พลเมืองโลก’)

ในตอนหนึ่ง ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในฐานะกรรมการและเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กล่าวว่า งานเสวนาวันนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึง ศ. เบน แอนเดอร์สัน เจ้าของผลงาน ‘ชุมชนจินตกรรม’ ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองไทยสมัยใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ตนอยากทราบว่าหาก ศ.เบนยังมีชีวิตอยู่และได้สัมผัสกับแฟลชม็อบ, ม็อบมุ้งมิ้ง และม็อบตุ้งติ้ง จะมีความเห็นอย่างไรในวันที่เรามาถึงจุดซึ่งมีการหยิบเรื่องชาติขึ้นมาหาความหมาย มีการใช้วาทกรรมรักชาติ ชังชาติ โดยคำว่า ‘ชาติ’ นั้น แปลมาจาก ‘Nation’ แต่บางท่านบอกว่าที่ถูกต้องควรเป็น ‘ประชาชาติ’

“26 สิงหาคม คือวันคล้ายวันเกิดอาจารย์เบน ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่จะมีอายุ 84 ปี ประเด็นเรื่องชาติ ลัทธิชาตินิยม รักชาติ ชังชาติ แท้จริงมีความหมายอย่างไร เราควรคุยเรื่องนี้ในหลักวิชาการให้เกิดความเข้าใจว่าในขณะนี้ทำไมมีการใช้เพลงชาติ ชู 3 นิ้ว ผูกโบขาว” ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าว

Advertisement

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า ศ.เบน เกิดที่คุนหมิง ยูนนาน ในพ.ศ.2479 บิดาเป็นคนไอริช มารดาเป็นชาวอังกฤษ ตระกูลทั้งฝั่งบิดาและมารดาสามารถสืบเชื้อสายย้อนไปได้หลายร้อยปี ถือเป็นคนไม่ธรรมดา แม้แสดงตัวเองว่าธรรมดา เริ่มเขียนผลงานวิชาการตั้งแต่อายุ 23 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2502-2558 รวมกว่า 370 รายการ เคยเขียนผลงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอินโดนีเซียจนไม่สามารถเข้าประเทศดังกล่าวได้นานถึง 26 ปี การถูกแบนในครั้งนั้นทำให้ ศ.เบนข้ามมาศึกษาการเมืองไทยและฟิลิปปินส์ ดื่มด่ำทั้งภาษาและวัฒนธรรมไทย โดยบอกว่าถ้าอยากเชี่ยวชาญประเทศใดประเทศหนึ่ง ต้องฝันให้เป็นภาษาของชาตินั้น ตนก็พยายาม แต่ยังทำไม่ได้

“อาจารย์เบนเป็นคนมีทั้งศาสตร์และศิลป์ ทำให้ทั้ง 2 สิ่งกลายเป็นสิ่งเดียว เห็นอะไรในโลกนี้อย่างที่น้อยคนจะได้เห็นและพึงจะเห็นด้วย สำหรับผลงานที่เกี่ยวกับเมืองไทย  ท่านเขียนไว้หลายรายการ ทั้งบทความและหนังสือ เช่น 1. ในกระจก วรรณกรรมการเมืองไทยของสยามยุคอเมริกัน (In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era) 2. ไกลกะลา แปลจาก (A Life Beyond Boundaries) 3. บ้านเมืองของเราลงแดง ซึ่ง อ.เกษียร เตชะพีระเป็นคนตั้งชื่อภาษาไทย”  ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าว

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image