09.00 INDEX เป้าหมายคือปิดสวิตช์ 250ส.ว. 19กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร

แท้จริงแล้ว “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” เสมอเป็นเพียงบทที่ 1 เหมือนกับการลงสู่ถนนราชดำเนิน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม

เป้าหมายก็คือ การปักหมุด “คณะราษฎร” อันแจ้งเกิดในวันที่ 20 กันยายน 2563

เป้าหมายก็คือ การทวงคืนอำนาจ คืนให้กับ “ราษฎร”

อย่าได้แปลกใจหากกำหนดนัดหมายครั้งต่อไปคือวันที่ 23 และวันที่ 24 กันยายน อันเป็นวันที่รัฐสภากำหนดญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่วาระ

Advertisement

เป้าหมายเบื้องต้นอาจอยู่ที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย รวมถึง ส.ส.พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา

แต่เป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ 250 ส.ว.ว่าจะลงมติไปในทางใด ต่อต้านหรือว่าเห็นด้วย

เป้าหมายสูงสุดยังเป็นคำถามมี 250 ส.ว.ไว้ทำไม

Advertisement

ต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต่อบทนิยามที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งเพื่อ เป็นหลักประกันในการสืบทอดอำนาจคสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่มีอะไรแจ่มชัดยิ่งไปกว่าบทบาทของ 250 ส.ว.ในการขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

นั่นคือ เด็ดล็อกในทางการเมือง เป็นประตูที่ปิดตายสำหรับกลุ่มและพรรคการเมืองอื่นอย่างสิ้นเชิง เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เพียงจะดีไซน์เพื่อคสช.เพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น

หากแต่ยังดำเนินไปในลักษณะของการ “กินรวบ” ตัดโอกาสตัดหนทางของกลุ่มการเมืองอื่นโดยสิ้นเชิง

ประตูแรกที่จะต้องพังเข้าไปผ่านมาตรา 256 และมาตรา 272 ก็คือ การเข้าไปยุติบทบาทตามยุทธศาสตร์ “ปิดสวิตช์ 250 ส.ว.” โดยกดดันตรงไปยัง 250 ส.ว.

เท่ากับเป็นการยืนยันในเจตจำนงของ “19 ก.ย. ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ในการประชุมวันที่ 23 และ 24 กันยายน

ความร้อนแรงจากการเคลื่อนไหวจึงมิได้อยู่ที่การเปล่งเสียงจากท้อง สนามหลวง “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ดังก้องไปบนท้องถนน เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา

เป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การตัดสินใจของ 250 ส.ว.

แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะว่าอย่างไร

คำตอบจึงอยู่ที่การลงมติในวันที่ 24 กันยายนเป็นสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image