ม.สแตนฟอร์ด เผยเทคนิค ‘บัญชีไอโอ’ ใช้ชื่อ-ภาพปลอม ชื่นชมกองทัพ แซะอนาคตใหม่

ม.สแตนฟอร์ด เผยเทคนิค ‘บัญชีไอโอ’ ใช้ชื่อ-ภาพปลอม ชื่นชมกองทัพ แซะอนาคตใหม่

กรณีทวิตเตอร์รายงานการตรวจสอบเครือข่ายปฎิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ (information operation) โดยพบกลุ่มเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหลายชาติ ทั้งอิหร่าน, ซาอุดิอาระเบีย, คิวบา, รัสเซีย, และโดยเฉพาะประเทศไทย โดย ในประเทศไทย ทวิตเตอร์ได้ปิดบัญชี 926 บัญชี ที่มีความพยายามกระจายเนื้อหาชื่นชมกองทัพบกไทย และ รัฐบาล

ขณะที่ พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสนาธิการกองทัพบก ในฐานะ โฆษก ทบ. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่า ได้ประสานงานยืนยันกับทางทวิตเตอร์ไปแล้วว่า ทบ. ไม่ได้ใช้งานทวิตเตอร์ในลักษณะตามที่ถูกกล่าวหา ในส่วนของทวิตเตอร์ที่เป็นของกองทัพบกยืนยันว่าใช้ประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบกเท่านั้น ทั้งนี้ทวิตเตอร์ที่อยู่ในระบบของกองทัพบกมีการใช้แบบเปิดเผยชัดเจน โดยมีศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบกที่เป็นคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ดูแลควบคุมการใช้สื่อโซเชียลของกองทัพบก หน่วยขึ้นตรงกองทัพบก รวมถึงหน่วยระดับกองพล และกองพันลงไป โดยมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน

วันเดียวกัน  Stanford Internet Observatory ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัย ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยรายงานการเก็บข้อมูล ความยาว 33 หน้า  ใช้ชื่อว่า “การเชิดชูผู้นำที่ไร้ผู้ชื่นชม : ปฎิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพไทยที่มีผลกระทบต่ำ”  ใจความสำคัญ คือการเปิดให้เห็นว่า บัญชีทวิตเตอร์กว่าพันบัญชีที่ถูกปิดไปนั้น เป็นปฎิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ ปฎิบัติการไอโอ มีการเก็บสถิติ ลักษณะบัญชีทวิตเตอร์ต่างๆ ลักษณะการทวิตข้อความ การติดแฮชแท็ก และความถี่ในการเมนชั่นบัญชี

ทั้งนี้ ในงานวิจัยดังกล่าว ได้ระบุธีม ที่ใช้ในการขับเคลื่อนการกระจายข่าวสารไว้ 4 ข้อ ในการสนับสนุนกองทัพ รัฐบาล และโจมตีพรรคอนาคตใหม่ ได้แก่

Advertisement

1.การเชิดชูผู้นำ-กิจกรรมกองทัพ
2.การพยายามทำให้เป็นกลาง กรณีมีกระแสวิจารณ์กองทัพ จากกรณีกราดยิงโคราช
3.การวิพากษ์วิจารณ์ พรรคอนาคตใหม่
4.การนำเสนอ สนับสนุน ช่วยเผยแพร่คอนเทนต์เกี่ยวกับโควิด-19 ของกองทัพ

อ่าน งานวิจัย ม.สแตนฟอร์ด เปิดหลักฐาน 4 ธีมหลัก บัญชีไอโอ เชิดชูทหาร-โจมตีอนาคตใหม่

Advertisement

ทั้งนี้ ในรายงานของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เปิดเผยเทคนิคของกลุ่มไอโอของกองทัพในการกระจายข้อมูล โดยมักจะเป็นการเล่าเรื่องในทางเดียว ทำงานเป็นเครือข่าย ในการทวีตตอบโต้ระหว่างหน่วยงานกองทัพที่ใกล้กันในการผลักดันแฮชแท็ก ที่สร้างขึ้นมา โดย ยังมีการนำรูปภาพโปรไฟล์ที่น่าสนใจ มาปิดบังให้คล้ายกับคนธรรมดาในการใช้ทวิตเตอร์

ทั้งนี้ยังพบอีกว่า ชื่อยูเซอร์เนมของบัญชีจำนวนมาก มาจากการแรนดอม ซึ่งโดยปกติแล้ว ทวิตเตอร์จะตั้งชื่อให้อัตโนมัติ เมื่อเปิดใช้ครั้งแรก สอดคล้องกับการตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้ของเหล่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนหนึ่ง ที่มักระบุว่า ชื่อของแอคปลอมเหล่านี้ จะมีตัวอักษรและตัวเลขด้านหลัง อย่างไร้ความหมาย

ในรายงานยังระบุว่า ผลการศึกษา พบว่า ทวีตที่รีพลายตอบกลับ ที่เกี่ยวข้องกับบัญชีทางการของฝ่ายประชาสัมพันธ์กองทัพยังมีถึง 14 อันดับจาก 20 โดยยังไม่ได้นับเพจชื่นชมทหารอื่นๆ อาทิ @army2pr , @armypr_news , @TLHR2014 , @army3news และ @prayutofficial

ตัวอย่างของบัญชีต่างๆ ที่กระจายเนื้อหาอวยกองทัพ จำนวนมากเกี่ยวข้องกับกองทัพ

และไม่แปลกใจที่ ทวิตที่ตอบกลับจากทีมประชาสัมพันธ์ของกองทัพจะช่วยเหลือกัน อาทิ แอคเคาท์ @army2pr มีการตอบกลับของข้อความในเชิงสนับสนุนถึง 28 ครั้ง เช่น

• @rungsit (02-25-2020): หมั่นฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ เพื่อเพิ่มศักยภาพที่ดีในการปฏิบัติภารกิจ ขอเป็นกำลังใจในการรับการฝึกด้วยนะครับ
• @l2eallycrazy (02-24-2020): กองทัพไทยไม่น้อยหน้าใคร
• @เย้ยฟ้าท้าดิน (02-23-2020): เยี่ยมมากครับ…เป็นกำลังใจให้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการรีพลายข้อความสนับสนุนทีมกองทัพ แต่ก็มีการตั้งคำถามกับฝ่ายตรงข้ามของกองทัพ บัญชีไอโอ ก็ยังได้เข้าไปคอมเมนต์ รีพลาย ในทวิตที่อยู่ฝั่งตรงข้ามในเชิงลบอีกด้วย รวมไปถึงแอคเคาท์ของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนด้วย

รายงานวิจัยดังกล่าวยังระบุว่า ปฎิบัติการทางการเมืองและข่าวสารของบัญชีที่ถูกปิดไปนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่ำมาก มีการเข้าถึงจากผู้ใช้ทวิตเตอร์อื่นๆค่อนข้างต่ำ บัญชีเหล่านั้นมีผู้ติดตามน้อย หรือเป็นการติดตามกันเอง

ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ ก็ได้เปิดเผยข้อมูลของบัญชีต่างๆ ที่ได้ปิดลงไป เช่น คอมเมนต์ต่างๆ รวมทั้งภาพ กราฟฟิกต่างๆ รวมไปถึงข่าวสารจากเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นภาพการประชาสัมพันธ์การทำงานของกองทัพ และ โจมตีพรรคฝ่ายค้าน อาทิ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image