หน้า3 : คำตอบ สุดท้าย จาก คณะราษฎร 2563 ซึ่งต้อง ‘พิสูจน์’

เหลืออีกเพียง 1 วัน การชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาคม จะเดินทางมาถึงด้วยความระทึกเป็นอย่างสูงในสังคม

ปรากฏความเชื่อ 2 ความเชื่อ

1 เป็นความเชื่อว่าจำนวนคนเข้าร่วมในวันที่ 14 ตุลาคม จะลดน้อยลง 1 เป็นความเชื่อว่าจำนวนคนเข้าร่วมในวันที่ 14 ตุลาคม จะเพิ่มมากขึ้น

2 ความเชื่อนี้สวนทางกัน

Advertisement

ไม่เพียงแต่สะท้อนออกผ่านการประเมินและคาดหมายในเรื่องของ “จำนวน” หากยังมีฐาน “ข้อมูล” ที่รับรองและยืนยันความเชื่อที่ต่างกัน

การทำความเข้าใจต่อ 2 ความเชื่อจึงสำคัญ

สำคัญทั้งต่อปรากฏการณ์ที่จะบังเกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม และทั้งต่อผลสะเทือนที่จะติดตามมาภายหลังสถานการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม

Advertisement

จำเป็นต้องเริ่มจากด้าน “ลบ” ก่อนด้าน “บวก”

ฐานความเชื่อ 1 ที่เห็นว่าปริมาณจะลดลงให้น้ำหนักไปกับข้อเสนอที่เรียกขานกันว่า “ทะลุเพดาน” จะผลักคนให้ถอยห่างโดยอัตโนมัติ

ความเชื่อ 1 มาจากภาพ “คุณหญิง” เมื่อวันที่ 24 กันยายน

นั่นก็คือ ผลสะเทือนอันตกกระทบไปยังพรรคเพื่อไทยนำไปสู่การปรับโครงสร้าง เปลี่ยนท่าที และที่ตามมาโดยอัตโนมัติคือ “คนเสื้อแดง”

เมื่อ “คนเสื้อแดง” ถอยออก ปริมาณก็ลด

ความเชื่อ 1 มาจากความไม่ประทับใจในกระบวนการและการจัด “องค์กร” ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนปลดแอกในตอนต้น ไม่ว่าจะเป็น “คณะราษฎร 2563” ในปัจจุบัน

ไร้มาตรฐาน ขาดเอกภาพ

ความเชื่อเช่นนี้เองคือ รากฐานแห่งความคิดที่ว่า จะเป็น “ขาลง” ของการเคลื่อนไหว เพราะไม่อาจขยายแนวร่วมสร้างพลังให้เติบใหญ่ต่อไปได้อีก

คำถามก็คือ จะ “จบ” ลงตรงไหน เท่านั้น

บทสรุปข้างต้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความเชื่อที่ดำรงอยู่ไม่เพียงแต่ภายใน “คณะราษฎร 2563” หากแต่ยังอยู่ในกลุ่มที่แวดล้อมอยู่โดยรอบ

1 มองเห็นพัฒนาการของการเคลื่อนไหว

ไม่เพียงแต่เป็นพัฒนาการในด้าน “ปริมาณ” ที่เติบโตจากเรือนพันทะยานไปยังเรือนแสน หากแต่ยังเป็นพัฒนาการในด้าน “คุณภาพ”

เป็นคุณภาพในทาง “การเมือง” เป็นคุณภาพในทาง “การจัดตั้ง”

ขณะเดียวกัน 1 ที่อีกฝ่ายเห็นว่าเป็นจุดด้อยกลับจะกลายเป็นจุดแข็ง และผ่านการตรวจสอบจากการเคลื่อนไหวอย่างน้อยก็ 2 ครั้ง

จากวันที่ 10 สิงหาคม จากวันที่ 16 สิงหาคม และจากวันที่ 19 กันยายน

ปริมาณที่เพิ่มจาก “เรือนหมื่น” เป็น “หลายหมื่น” กระทั่งแตะไปยัง “เรือนแสน” เท่ากับยืนยันว่าเนื้อหาที่เรียกว่า “ทะลุเพดาน” มิได้เป็นปัญหา

ตรงกันข้าม กลับสร้างความเร้าใจอย่างยิ่งยวด

ไม่ว่าความเชื่อมั่นอันนำไปสู่การประเมินในด้าน “ลบ” ไม่ว่าความเชื่อมั่นอันนำไปสู่การประเมินในด้าน “บวก” ยังเสมอเป็นเพียง “สมมุติฐาน”

ยังต้องผ่านการพิสูจน์ การตรวจสอบ

ในที่สุดแล้ว กระบวนการพิสูจน์ทราบ และตรวจสอบสมมุติฐานอันดำเนินไปในลักษณะเป็นทฤษฎีก็ต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติที่เป็นจริง

ข้อเท็จจริงในวันที่ 14 ตุลาคม นั่นแหละคือ “คำตอบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image