‘อดีตส.ส.ร.’ชี้ ไทยมีพ.ร.บ.ประกอบรธน.มากไป กลายเป็นเขี้ยวเล็บกำกับอำนาจปชช.

“คณิน” ชี้ พ.ร.บ.ประกอบรธน. 10 ฉบับ มากเกินจำเป็น เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปชต. พร้อมบอกครม.เป็นได้แค่ “เบ๊” เสนอเสนอกม.

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี 40 กล่าวถึงกรณีร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ กำหนดให้มีร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ว่า มีมากเกินความจำเป็นและเป็นอุปสรรค ต่อกระบวนการประชาธิปไตย และที่สำคัญเป็นตัวการที่ทำให้ระบบศาลและองค์กรอิสระมีอิทธิพลเหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากนั้นการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ยังทำได้ยากพอๆ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใจแคบของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

นายคณิน กล่าวว่า ความจริงประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ได้เพราะกระบวนการทางการเมืองไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรมากนัก กล่าวคือ ไม่ได้เป็นสาธารณรัฐเหมือนอย่างประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวและเป็นราชอาณาจักรอีกต่างหาก แต่ถ้าอยากมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อเอาใจ นักกฎหมายที่จบจากประเทศฝรั่งเศสก็น่าจะมีแค่ 3 ฉบับก็พอ คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และว่าด้วยพรรคการเมือง และที่สำคัญไม่ควรมีกระบวนการพิจารณาและให้ความเห็นชอบที่แตกต่างไปจากกฎหมายทั่วไป แต่เนื่องจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และฉบับนายมีชัย คงจะเห็นว่าผู้มีอำนาจบังคับใช้และวินิจฉัยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็น “คนพิเศษ” จึงได้ทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกลายเป็น “กฎหมายพิเศษ” ไปโดยปริยาย

นายคณิน กล่าวด้วยว่า ตนไม่เข้าใจว่าทำไม กรธ. จึงทำกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นสองฉบับแยกต่างหากออกจากกัน ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นฉบับเดียวกันเหมือนอย่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นอกจากนั้นที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและศาลคดีอาญาทางการเมืองรวมทั้งกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ได้ จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่า กรธ. มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นทั้งเกราะกำบังและเขี้ยวเล็บของระบบศาล องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่จะจัดการกับฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างถนัดไม้ถนัดมือมากยิ่งขึ้น

Advertisement

นายคณิน กล่าวต่อว่า กระบวนการเสนอ พิจารณา และให้ความเห็นชอบ รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญก็แปลกพิสดาร เริ่มตั้งแต่การเสนอ แทนที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นเจ้าของร่างเสนอเองอย่างในรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เปลี่ยนมาให้ ครม. เสนอแทน ข้างฝ่าย ครม. นั้น จะเสนอเองโดยลำพังก็ไม่ได้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และองค์กรอิสระไม่ส่งร่างมาให้ครม. ก็เลยเป็นเหมือนเบ๊ไปคอยรับหน้ากับ ส.ส. ในสภาเอาเอง โดยที่ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นเจ้าของร่าง อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร แม้แต่ส่งตัวแทนไปเสนอร่างและชี้แจงโต้ตอบกับ ส.ส. ในฐานะเจ้าของร่างก็ยังไม่ต้องทำ แสดงว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และองค์กรอิสระจับยัดใส่มือ ครม. เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้น สภาผู้แทนราษฎรจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย เว้นแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือองค์กรอิสระจะยินยอมให้แก้ไขและสั่งให้ ส.ว. โหวตร่วมกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เท่ากับเป็นการมัดมือชกรัฐสภานั่นเอง ในขณะที่ ครม. ก็มีหน้าที่เป็นหนังหน้าไฟ ที่ต้องปกป้องร่างและรับหน้า ส.ส.ในสภาเท่านั้นเอง ถือเป็นกระบวนการนิติบัญญัติที่ออกจะพิสดาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image