พิชาย ชี้ โหวตแก้รธน. พิสูจน์ใจส.ว. จะเป็นตัวแทนอภิสิทธิ์ชน หรือทำหน้าที่ผู้แทนปวงชน

“พิชาย” ชี้ ส.ว.คือจุดชี้ขาดแก้รธน. จะเป็นตัวแทนพวกอภิสิทธิ์ชน หรือทำหน้าที่ผู้แทนปวงชน

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 13 พฤศจิกายน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ร่วมกันจัดเวทีประชุมทางการเมือง หัวข้อ “บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย” โดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ กล่าวว่า ครั้งหนึ่งเคยสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เพราะคิดว่า จะทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงทำให้ต้องประกาศขอให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ในฐานะที่เป็นตัวปัญหาทุกเรื่อง หากนายกฯ ลาออกจะเป็นการถอดสลักตัวแรก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการถอดสลักที่สอง แต่ปรากฎว่ามี ส.ว.ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประชาชนต้องออกมาช่วยกันกดดัน

ย้อนอ่าน : วงเสวนา ประสานเสียง 17-18 พ.ย.นี้เป็นวันปวศ. รบ.จริงใจหรือไม่ โหวตตั้งสสร.ดับวิกฤต

นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานครป. กล่าวว่า ตอนนี้เป็นเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่จะได้ดูว่าประเทศไทยจะไปในทิศทางไหน โดยรัฐสภาเป็นสถาบันที่มีบทบาทอย่างมาก ทั้งในฐานะเป็นตัวปัญหา และคลี่คลายปัญหาให้กับสังคม เราเห็นภาพชัดว่า จุดชี้ขาด คือ วุฒิสภา ซึ่งพื้นฐานของส.ว. 250 คนทั้งในแง่บุคคลและโครงสร้าง กล่าวได้ชัดเจนว่า ส.ว.เป็นตัวแทนชนชั้นนำ และกลุ่มคนอภิสิทธิ์ชน ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน โดยมีอุดมการณ์รากฐานที่ต้องการรักษาอำนาจเดิมเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปกป้องวัฒนธรรมอุปถัมภ์ ภายใต้ความเชื่อเช่นนี้ทำให้ส.ว.พยายามใช้ยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวผ่านการเลือกองค์กรอิสระ การลงมติคัดค้านในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากมีการปฏิบัติทางการเมืองที่กระทบต่อเครือข่ายตัวเอง ส่งผลให้เห็นการต่อต้านหลากหลาย และการประดิษฐ์วาทกรรมเพื่อหยุดยั้งการกระทำที่คุกคามตนเอง เห็นได้จากการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่มีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“อย่างไรก็ตาม แรงกดดันที่เกิดขึ้นอาจเกิดทำให้เอกภาพของส.ว. เกิดการแตกขึ้นได้ และจะมีพื้นที่เจตจำนงเสรีหลงเหลืออยู่บ้าง โดยไม่ได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียว การตัดสินใจจะยื้อการแก้ไขรัฐธรมนูญ จะทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของส.ว.น้อยลง เพราะการทำเช่นนั้นไม่ต่างอะไรกับการไม่ฟังเสียงของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น จะทำให้ความขัดแย้งเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น ผลกระทบที่มากกว่าภาพลักษณ์ที่เสียของส.ว.มีมากกว่านั้น เพราะจะทำให้ประชาชนเชื่อว่า ส.ว.เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง ทำให้ประชาชนแสดงออกถึงความสิ้นหวัง บทบาทที่ส.ว.จะดำเนินการใน วันที่ 17-18 พฤศจิกายน จะต้องตระหนักความเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย การตัดสินลงมติในทางใดก็ต้องใช้จินตนาการและวิสัยทัศน์มากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า” นายพิชาย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image